พาราสาวะถี
ไม่เพียงแค่ถูกครหาว่าหาเสียงล่วงหน้า สำหรับการนำคณะรัฐมนตรีไปทัวร์นกขมิ้น ประชุมครม.นอกสถานที่ ล่าสุด ที่จังหวัดจันทบุรี ยังมีการตั้งคำถามที่มองได้ว่าเป็นลักษณะชี้นำด้วยหรือไม่ สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งลงพื้นที่พบปะประชาชนที่จังหวัดตราด บอกว่า “ประชาธิปไตยต้องมีเมื่อพร้อม แต่ท่านต้องเลือกให้เป็น รู้หรือยังว่าจะเลือกใคร”
อรชุน
ไม่เพียงแค่ถูกครหาว่าหาเสียงล่วงหน้า สำหรับการนำคณะรัฐมนตรีไปทัวร์นกขมิ้น ประชุมครม.นอกสถานที่ ล่าสุด ที่จังหวัดจันทบุรี ยังมีการตั้งคำถามที่มองได้ว่าเป็นลักษณะชี้นำด้วยหรือไม่ สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งลงพื้นที่พบปะประชาชนที่จังหวัดตราด บอกว่า “ประชาธิปไตยต้องมีเมื่อพร้อม แต่ท่านต้องเลือกให้เป็น รู้หรือยังว่าจะเลือกใคร”
ท่วงทำนองในลักษณะเช่นนี้คงไม่มีปัญหา หากท่านผู้นำไม่ได้ประกาศตัวเองว่าเป็นนักการเมือง คงไม่มีใครเคลือบแคลง หากไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศจะสนับสนุนหัวหน้าคสช.กลับมาเป็นนายกฯคนนอก และจะไม่มีคำถามใดๆ เกิดขึ้นแม้แต่น้อย หากท่านทำตามสัญญา ไม่พลิกพลิ้วพลิกลิ้น เลื่อนเลือกตั้งแบบเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
พฤติกรรมที่แสดงออกจะเที่ยวไปบอกใครต่อใครว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา เข้ามาเป็นกรรมการ คงจะไม่ได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่ทำอยู่มันคือผู้เล่นอีกคนในสนามการเมือง มีการแบ่งแยกชัดเจน ระหว่างคนดีกับนักการเมืองหน้าเดิม ที่วันนี้ในความหมายของท่านผู้นำไม่ได้หมายถึงคนของระบอบทักษิณเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงนักการเมืองคนอื่นๆ (ที่ไม่ได้หันหัวเรือมาพึ่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด) ด้วย
การประกาศชัดเจนว่าจะไม่ปิดทางตัวเองในการกลับมาเป็นนายกฯคนนอก เท่ากับความชัดเจนที่ว่าจะสืบทอดอำนาจต่อไป เพียงแต่จะกลับมาใหม่โดยใช้กลไกการเลือกตั้งที่องคาพยพของคณะรัฐประหารได้วางกฎเกณฑ์ กติกาไว้อย่างรัดกุม ด้วยการตีกันนักการเมืองเดิมพรรคการเมืองเก่าก้าวเข้าสู่อำนาจ จะมีแต่เพียงผู้ที่ถูกเลือกแล้วเท่านั้น รวมกันเข้ากับส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง
วันนี้สิ่งที่ท่านผู้นำย้ำแล้วย้ำอีก ต้องการไม่ให้ประชาชนแบ่งแยกกัน ต้องหันหน้าเข้าหากัน อย่าให้ใครเข้ามาชี้นำให้เราแตกแยกอีกต่อไป คงต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า มาถึงนาทีนี้ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายชี้นำ ใช้ทุกกลไกของอำนาจรัฐในการสร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง และชี้นิ้วไปยังฝ่ายที่ไม่พึงประสงค์ให้เป็นคนชั่ว คนที่สังคมต้องรังเกียจ โดยสถาปนาตัวเองและพรรคพวกเป็นคนดีแต่เพียงฝ่ายเดียว
ปฏิบัติการณ์ไอโอที่เคยใช้ในคราบของทหารผู้ถือยศถาบรรดาศักดิ์นั้น อาจจะได้ผลหากเป็นประชาชนยุคที่การสื่อสารถูกปิดกั้น แต่วันนี้ ไม่มีใครที่จะถูกปิดหู ปิดตา และปิดปาก ประชาชนรู้มากและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีกว่าผู้มีอำนาจเสียด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องให้ใครมายัดเยียดทั้งความรู้ ความเข้าใจจอมปลอม หรือการหว่านเม็ดเงินสารพัดวิธีเพื่อหวังที่จะซื้อใจคนที่ผู้มีอำนาจมองว่าเป็นพวกฐานราก
ความเป็นจริงก็คือ สิ่งที่ทำกันมาและกำลังทำกันอยู่ คนส่วนใหญ่มองออก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจ และบทบาทของรัฐทั้งในการแก้กฎหมาย การทำกิจกรรมของรัฐ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อมาเป็นนักการเมือง โดยใช้อำนาจรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง นำงบประมาณไปหาเสียงเพื่อหวังสืบทอดอำนาจ โดยที่ทั้งหมดนั้นตรวจสอบไม่ได้
เมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวพันกับความโปร่งใส ผนวกเข้ากับการชักเข้าชักออกของผู้มีอำนาจ เหล่านี้รวมกันแล้วถือได้ว่าเป็นภาวะสั่นคลอนต่อความน่าเชื่อถือ อันมีคำมั่นสัญญาของท่านผู้นำเป็นสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้ หากมองบนโลกแห่งความเป็นจริง ผู้มีอำนาจย่อมรับรู้ได้ถึงความเบื่อหน่ายของประชาชน และนั่นมันจะสัมพันธ์กับผลโพลของทุกสำนักที่ออกมาตรงกันว่า ทำไมคะแนนนิยมที่เคยสูงลิบจึงลดลงอย่างน่าใจหาย
ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่พวกต่อต้านหรือกลุ่มเคลื่อนไหวอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หากแต่เป็นเรื่องอันเกิดจากผลงานและฝีมือของผู้มีอำนาจล้วนๆ เมื่อบวกเข้ากับข่าวคราวอันเป็นเรื่องคาวฉาวโฉ่ ที่สวนทางกับการประกาศตัวเป็นรัฐบาลปราบโกง ความเชื่อถือเชื่อมั่นที่เคยมีมันจึงดิ่งเหว โงหัวไม่ขึ้น ไม่ว่าจะงัดสารพัดวิธีมาเรียกคะแนนแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
นับวันดูเหมือนว่าแนวร่วมความเบื่อเริ่มจะขยายวงมากขึ้น ปฏิกิริยาจากผู้ที่ไม่เอาคสช.นอกจากกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวอันเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่เป้าหมายซึ่งถูกล็อคไว้แล้วของฝ่ายกุมอำนาจ สิ่งที่ทำให้ผู้นำเผด็จการใจเสียไม่น้อย คงเป็นคนกันเอง หลายคนก็คือแนวร่วมนกหวีดผู้ร่วมขบวนโบกมือดักกวักมือเรียกคณะรัฐประหาร แต่วันนี้พากันออกมาวิจารณ์ดุเด็ดเผ็ดมัน ย่อมสะท้อนภาพความเสื่อมและผิดหวังในบางเรื่องหรืออาจจะหลายเรื่องที่คนพูดแล้วไม่ทำหรือผิดคำสัญญาบ่อยๆ
ส่วนรายนี้ถือเป็นนัก (ยื่น) ร้องที่ปฏิบัติมาตั้งแต่เป็นส.ว.จนกระทั่งเดินเข้าค่ายนายใหญ่ หลายเรื่องโดนใจ แต่บางเรื่องมันก็ชวนให้ขัดหรือฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป สำหรับ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ล่าสุดได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจดำเนินการเอาผิดกลุ่มล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
มาตรฐานที่อดีตส.ว.นักร้องรายนี้หยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบคือ เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเหมือนกับกลุ่มวีวอล์คเดินมิตรภาพหรือกลุ่มเอ็มบีเค 39 ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ดังนั้น จึงต้องไม่มีข้อละเว้น งานนี้ ไม่เพียงแต่จะต้องถูกกระแสกดดันหรือด่าไล่หลังจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะจากฝั่งไม่เอาพรรคเพื่อไทยแล้ว แม้กระทั่งคนพรรคเดียวกันหรือลูกชายเจ้าของพรรคอย่าง พานทองแท้ ชินวัตร ยังต้องออกมาโวย
ไม่ว่าจะอธิบายเหตุผลอย่างไร แต่สงสัยเรืองไกรลืมไปว่า กิจกรรมล้อการเมืองกับเรื่องการชุมนุมทางการเมืองนั้นมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญเป็นประเพณีที่ทำกันมาจนหนนี้เป็นครั้งที่ 72 แล้ว ความคิดที่สุดโต่งเช่นนี้จึงน่าจะเป็นภัยต่อทั้งตัวเองและพรรคต้นสังกัด อย่างที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคต้องเรียกออกมาขอโทษนักศึกษาและประชาชนต่อการกระทำ (แบบไม่ปรึกษา) ของคนในพรรค
ขณะที่คนต้นเรื่องก็ประกาศพร้อมขอโทษแต่ยืนยันจะเดินหน้ายื่นเรื่องให้หัวหน้าคสช.ต่อไป น่าเสียดาย ที่บางทีคนเราก็แยกแยะไม่ได้ว่าอะไรเป็นเรื่องที่ควรต้องใช้กฎหมายบังคับและเอาผิดเต็มที่ หากมีการหยิบยกเอากลุ่มอยากเลือกตั้งเทียบเคียงกับกลุ่มหนุนผู้มีอำนาจอย่างนี้สังคมคงพากันปรบมือให้ แต่พอเป็นกรณีเช่นนี้เสียแล้ว คนจะมองว่าเป็นการพาพวกเข้ารกเข้าพงไปเสียฉิบ ดูกันต่อไปว่าจะมีก้อนอิฐย้อนกลับมาหาคนช่างร้องกันกี่มากน้อย