พาราสาวะถี
การจับกุม เปรมชัย กรรณสูต บิ๊กบอสผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์หรืออิตัลไทย กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก พร้อมพวกรวม 4 คนและของกลางที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอย่าง เสือดำ ซึ่งถูกชำแหละพร้อมหนังที่ถลกเรียบร้อย ไก่ฟ้าหลังเทา รวมถึงอุปกรณ์การล่าสัตว์อีกเพียบ ย่อมเกิดคำถามว่าการเข้าไป “ล่า” ครั้งนี้ มีใครอนุญาต หรือ ใช้สิทธิพิเศษประเภทอภิ (มหา) สิทธิ์ เข้าสู่พื้นที่หวงห้ามหรือไม่
อรชุน
การจับกุม เปรมชัย กรรณสูต บิ๊กบอสผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์หรืออิตัลไทย กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก พร้อมพวกรวม 4 คนและของกลางที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอย่าง เสือดำ ซึ่งถูกชำแหละพร้อมหนังที่ถลกเรียบร้อย ไก่ฟ้าหลังเทา รวมถึงอุปกรณ์การล่าสัตว์อีกเพียบ ย่อมเกิดคำถามว่าการเข้าไป “ล่า” ครั้งนี้ มีใครอนุญาต หรือ ใช้สิทธิพิเศษประเภทอภิ (มหา) สิทธิ์ เข้าสู่พื้นที่หวงห้ามหรือไม่
ในส่วนของคดีความต้องว่าไปตามกระบวนการ แต่ในด้านของอารมณ์ความรู้สึกของสังคมคงจะห้ามกันไม่ได้ และต้องไปไกลชนิดที่ขุดคุ้ยสารพัดแง่มุม รวมถึงการนำไปเทียบเคียงกับผู้มีอำนาจในยุคสมัยหนึ่งที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ราชการไปล่าสัตว์กันกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยมีดาราดังสมัยนั้นร่วมคณะด้วย แม้ว่าจะเปลี่ยนไปและตัวบุคคลที่กระทำผิดก็ต่างสถานะกัน ทว่าอารมณ์ร่วมของสังคมกลับไม่แตกต่าง
สำหรับคนทั่วไปปัจจัยที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในทิศทางเดียวกันคือ หนุนหลังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และเรียกร้องให้จัดการเอาผิดขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำผิด รวมไปถึงการดักคอว่า ทุกกระบวนการต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสนั้น นั่นเป็นเพราะคนถูกจับเป็นถึงเจ้าสัวใหญ่ เป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของประเทศ เมื่อเจ้าตัวเลือกใช้ชีวิตวันว่างเช่นนี้ โดยที่ไปเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ คำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือการใช้เส้นสายจึงผุดขึ้นทันทีทันใด
ยิ่งมีข่าวว่าทนายความของผู้กระทำผิดใช้แท็กติกทางกฎหมายสารพัด จึงยิ่งทำให้ฝ่ายกองแช่งที่เชียร์เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม อดแสดงความเป็นห่วงพร้อมทั้งพากันสร้างแนวร่วมผ่านโซเซียลมีเดีย เฝ้าจับตาคดีนี้กันอย่างเป็นพิเศษ สุดท้ายปลายทางไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าคนที่ทำคดีคงแบกรับภาระความกดดัน จนกว่าทุกอย่างจะผ่านการตัดสินของกระบวนการยุติธรรม
ขณะเดียวกันใครที่พากันเหล่ไปยังบริษัทที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าของนั้น คงต้องบอกว่าเมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เรื่องของธรรมาภิบาลคงไม่ต้องห่วง สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของผู้บริหาร ผิดถูกต้องว่ากันไปตามช่องทาง มากไปกว่านั้นรู้กันมาแต่ไหนแต่ไร วงการธุรกิจประเภทนี้เมื่อมีฐานอันแข็งแกร่ง คอนเน็คชั่นอันแน่นแฟ้นแล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบใดๆ
จะมีก็แค่เพียงเรื่องภาพลักษณ์ของผู้บริหารและองค์กรเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นทัศนคติของผู้บริหารรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นเก่าไม่ได้อินังขังขอบต่อเรื่องเช่นนี้ สิ่งสำคัญยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะมองข้ามโดยเห็นว่าสิ่งที่กระทำไปเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย หากคนๆ นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มของคนดี ซึ่งนี่ไม่ใช่การใช้ความรู้สึก แต่อาศัยการสัมผัสจากสิ่งที่เห็นและเป็นไป ก็กรณี “ทุนสามานย์” นั่นปะไร ถามว่านอกจากวาทกรรมที่สร้างมาเพื่อให้ร้ายระบอบทักษิณแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันมันต่างกันตรงไหน
ประเด็นนี้ ที่จะอธิบายได้ดีที่สุดคงต้องเป็นพวกระบอบสนธิ-จำลอง เพราะเป็นกลุ่มที่เกาะติดการบริหารงานของผู้บริหารประเทศในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะนับตั้งแต่ห้วงเวลาความขัดแย้งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่หลอกตัวเองคนเหล่านั้นต้องอธิบายได้อย่างกระจ่างชัดว่า ทุนสามานย์นั้นแท้ที่จริงแล้วมันคืออะไร แล้วนักธุรกิจประเภทไหนกันแน่ที่สามานย์ในการดำเนินธุรกิจและกอบโกยผลประโยชน์แบบไม่ลืมหูลืมตา ในภาวะที่กระบวนการตรวจสอบของประเทศถูกจับมัดมือมัดเท้า
ถึงกับเดินลงจากโพเดียมแถลงข่าวทันทีสำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกนักข่าวจี้ถามเอาแต่เรื่องของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังประชุมครม.สัญจรที่จันทบุรี เข้าใจได้ว่าในความคิดของท่านผู้นำคือจะอะไรกันนักหนา เรื่องก็อยู่ระหว่างการรอป.ป.ช.สอบ ทำไมไม่รอให้มีคำตอบจากตรงนั้น
สงสัยท่านผู้นำคงจะลืมไปว่า องค์กรที่กำลังทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่นั้น สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจไปแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ ผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการที่แม้จะถอนตัวจากการร่วมพิจารณาคดีนาฬิกาหรู แต่คนก็อดเป็นห่วงไม่ได้ นั่นเป็นเพราะสายสัมพันธ์ที่ตัวท่านเองมีกับผู้ถูกสอบ จึงเกรงว่าจะมีผลต่อกระบวนการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่
อีกประการที่สำคัญคือ คณะกรรมการขององค์กรแห่งนี้เพิ่งได้รับการชุบชีวิตจากสนช.อันเป็น 1 ในองคาพยพแม่น้ำ 5 สายที่ได้รับการโอบอุ้มจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ทั้งๆ ที่หากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 คนเหล่านั้นไม่ควรจะได้ไปต่อ พอออกมาในรูปนี้ และมีการตรวจสอบฝ่ายผู้มีอำนาจ ณ ปัจจุบัน มันจะทำให้คนเชื่อถือ เชื่อมั่นได้อย่างไร
ไม่ใช่การดักคอหรือกล่าวหากันไว้ล่วงหน้า หากแต่มีพฤติกรรมซึ่งกำลังเป็นที่วิจารณ์กันในหมู่คนทำงานในองค์กรแห่งนี้ กำลังมีการพลิกแพลงหาวิธีการที่จะอธิบายให้สังคมยอมรับว่า ผลการตรวจสอบที่ออกมานั้นเป็นไปอย่างรัดกุม รอบคอบและไม่ได้ช่วยเหลือใครเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ความจริงมันจบตั้งแต่ที่เลขาธิการป.ป.ช.ไปตอบว่า ถ้านาฬิกาเป็นของเพื่อนก็ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน และไม่เข้าข่ายมาตรา 103 ของกฎหมายป.ป.ช.โน่นแล้ว
เพราะบทสรุปที่ออกมาในเมื่อสรุปกันเป็นอย่างนี้ เหมือนที่เคยบอกไว้ก่อนหน้านั้น เมื่อยืมเพื่อนแล้วเพื่อนบางคนก็ตายไปแล้ว ส่วนบางคนแม้จะมีตำแหน่ง แห่งหน แต่ด้วยไม่ได้เป็นข้าราชการหรือนักการเมือง ป.ป.ช.ก็จะอ้างเหตุว่าไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ หากผลที่ออกมาไม่เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ จะถือเป็นบุญของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เชื่อได้ว่าองค์กรแห่งนี้เป็นอิสระและโปร่งใส อย่างแท้จริง
กรณีทุจริตหรือมีพฤติกรรมไม่โปร่งใสของผู้ร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะมีที่มาแบบใดก็ตาม ถือเป็นความอ่อนไหวอย่างมาก ดังนั้น การที่มีใครลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างหนึ่งอย่างใดจึงจะถูกฝ่ายกุมอำนาจดำเนินการทุกวิถีทาง ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติก็จะพลิกตำราข้อกฎหมายเพื่อมาเอาผิด ดังที่เห็นอยู่เวลานี้ไม่ว่าจะกลุ่มเดินมิตรภาพหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวกันเป็นระลอก
ที่ต้องเตือนคนจับและตั้งข้อหาก็คือ จะเอาผิดใคร อย่างไรก็คิดให้รอบคอบ เพราะเวลานี้มันมีทั้งม็อบต้านและม็อบหนุน เหมือนที่มีการเทียบเคียงกลุ่มเอ็มบีเค 39 กับกลุ่มหนุนบิ๊กป้อม กลุ่มแรกถูกตั้งข้อหาหลายกระทงและต้องคดีเป็นพรวน แต่กลุ่มหลังเรียกหัวขบวนคนเดียวมาปรับ 3 พันแล้วปล่อยตัวไป ถ้าให้จบแบบนี้ สิ่งที่พล่ามมาตลอดว่าขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบและช่วยกันสร้างความปรองดองคงเกิดขึ้นยาก สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้มันต้องมีความยุติธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย