RATCH อัดฉีดงบฯปีนี้หมื่นลบ. ลุยเปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าใน-ตปท. หวังเพิ่มกำลังผลิตอีก 750MW

RATCH อัดฉีดงบฯ ปีนี้หมื่นลบ. ลุยเปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าในอาเซียน หวังเพิ่มกำลังผลิตอีก 750MW เล็งเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนของภาครัฐ


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในปีนี้เกินกว่าระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านบาท เนื่องจากเลื่อนการจ่ายเงินลงทุนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกังในจีนที่ RATCH ถือหุ้นอยู่ 10% มาจ่ายในปีนี้ ขณะเดียวกันก็จะใช้รองรับการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู ,โรงไฟฟ้าในมือที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผน

รวมถึงการทำดีลซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) โรงไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว โดยคาดว่าจะหาให้ได้ราวครึ่งหนึ่งจากเป้าหมายการหากำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเข้ามาอีก 750 เมกะวัตต์ (MW) ในปีนี้

แผนปีนี้เรามีเป้าอยู่ว่าจะต้องหาให้ได้อย่างน้อย 750 เมกะวัตต์ เรา commit กับบอร์ดแล้ว ก็หาทั้งในและต่างประเทศทุกโอกาสที่เรามี เราก็เข้าไปดูอยู่แล้ว ในประเทศเราก็รอดูแผน PDP ใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนต่างประเทศเราก็จะไปกับพันธมิตรที่มีอยู่แล้ว

รวมถึงหาพันธมิตรใหม่เพราะการที่ไปต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง ต้องมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เราก็ไปดูในประเทศแถบอาเซียน ออสเตรเลียก็ค่อนข้างดี…เราจะอยากจะหา M&A เพิ่มสักครึ่งหนึ่งของ 750 เมกะวัตต์”นายกิจจา กล่าว

โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือราว 7,500-7,600 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องผลิตแล้วราว 6,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา โดยแผนการหากำลังผลิตไฟฟ้าจาก M&A นั้นมองทั้งในไทยและอาเซียน โดยในไทยเห็นโอกาสการลงทุนในกลุ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนอื่น ๆ

ขณะเดียวกันก็มองโอกาสการเข้าร่วมประมูลตามแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐ ที่จะทยอยประกาศออกมาในปีนี้ด้วย ส่วนในอาเซียน มองโอกาสการลงทุนทั้งเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล และพลังงานทดแทน ในอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนมา ,เวียดนาม เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายจะรักษาฐานกำไรในปีนี้ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปีก่อน โดยเน้นการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่อยู่ในมือให้สามารถเดินเครื่องผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าหงสาในลาว

ขณะที่จะมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบในปีนี้ราว 174 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Collinsville ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 42.5 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 80% คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนราว 34 เมกะวัตต์

รวมทั้งโครงการพลังงานลม Mount Emerald ออสเตรเลีย กำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 80% คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนกว่า 140 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังจะเร่งการลงทุนโรงไฟฟ้า Kemerton ในออสเตรเลีย สำหรับส่วนของการติดตั้งชุดกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อกู้คืนระบบ (Black Start) กำลังผลิตรวม 7 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงของโรงไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 61 ซึ่งเร็วกว่าแผนการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตามสัญญาในช่วงต้นปี 62

ขณะเดียวกันก็มองโอกาสการลงทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในออสเตรเลีย จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตแล้วราว 200-300 เมกะวัตต์ แต่ต้องหาผู้ซื้อไฟฟ้าระยะยาวให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการขายไฟฟ้าเมื่อเทียบกับการขายเข้าระบบพลูที่ราคาซื้อขายไฟฟ้าจะค่อนข้างสวิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ซื้อไฟฟ้าซึ่งหากสำเร็จก็สามารถที่จะดำเนินการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวได้ต่อไป

Back to top button