ROJNAฟันกำไรขายหุ้น1.74พันลบ. หลัง“เสี่ยเจริญ”ส่ง”เฟรเซอร์สฯ”ฮุบTICONอีก26%ตามคาด!

บอร์ด ROJNA ไฟเขียวขายหุ้น TICON ทั้งหมด 478.7 ล้านหุ้น ให้ “เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์” ฟันกำไร 1.74 พันล้านบาท จ่อบันทึกรายได้ภายในไตรมาส 2/61


สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้รายงานว่า บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA จะทำการขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON จำนวน 478.7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.1% ที่ราคา 18 บาทต่อหุ้น ให้แก่บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด (FAS) ที่ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใน TICON ทั้งหมด 40.07% ตามที่รายงานในข่าว

เริ่มชัด! “เสี่ยเจริญ” จ่อเทนเดอร์ฯ TICON ขั้นต่ำ 18บ.! ฟาก ROJNA บุ๊คกำไรทันที 1.8พันลบ.

ล่าสุด วันนี้ (9 ก.พ. 61) ROJNA ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 61 อนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน TICON จำนวน 478.7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.1%

โดยเป็นการขายให้แก่บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด (FAS) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจเบียร์ช้าง ในราคาหุ้นละ 17.90 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 8.57 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.61

ทั้งนี้เป็นการอนุมัติเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข (Conditional Share Purchase Agreement) กับ FAS ซึ่งในวันนี้ (9 ก.พ.) บริษัทจะได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไขกับ FAS โดยสัญญาดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อน คือ บริษัทต้องได้รับการอนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท

สำหรับ FAS เป็นบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์(ประเทศไทย) จำกัด (FPHT) ในสัดส่วนการถือหุ้น 51% และ 49% ตามลำดับ โดย FPHT เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับแรกของ TICON ในสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 40.07%

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น TICON ไปใช้รองรับการขยายกิจการและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัท นอกจากนี้กำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการขายหุ้นครั้งนี้จะส่งผลให้กำไรสะสมในงบแสดงฐานะทางการเงินเพิ่มขึ้น และยังสามารถนำเงินไปชำระคืนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนปรับตัวลดลง และช่วยเสริมสร้างโครงสร้างทางการเงินของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทได้แต่งตั้งบริษัท แกรนท์ ธอนตัน เซอร์วิสเซส จำกัด ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการขายหุ้นทั้งหมดใน TICON ต่อคณะกรรมการบริษัท และจัดส่งความเห็นดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณาเรื่องการขายหุ้น TICON ในวันที่ 23 มี.ค.61

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังอนุมัติการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในเดือนมี.ค.61 ภายใต้ชื่อบริษัท ซากูระจูจิโรจนะ เมดิคัล จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดย ROJNA ถือหุ้น 51% ร่วมกับซากูระจูจิ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 49% เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อเป็นการขยายฐานธุรกิจ

ขณะเดียวกัน TICON ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทได้รับทราบว่าคณะกรรมการของ ROJNA มีมติอนุมัติให้ ROJNA ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทขายหุ้นของบริษัท ซึ่งถือหุ้นอยู่ 26.1% ให้แก่บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 17.90 บาท

โดยการทำรายการขายดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ROJNA ก่อน ภายหลังจากนั้น บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด จะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งเป็นการทั่วไปจากผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่าภายหลังจากที่ ROJNA ได้ทำการขายหุ้น TICON จำนวน 478.7 ล้านหุ้น ให้แก่บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด (FAS) ในราคา 17.90 บาทต่อหุ้น จะส่งผลให้ ROJNA ได้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 3.63 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวประมาณ 1.74 พันล้านบาท จากต้นทุนที่ 14.27 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้หาก ROJNA มีการบันทึกรายได้จากการขายหุ้นทั้งหมดภายในเดือน เม.ย. 61 จะส่งผลให้ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/61 เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่การเข้าซื้อหุ้น TICON ในครั้งนี้ส่งผลให้ บริษัท เฟรเซอร์ส แอสเซ็ทส์ จำกัด (FAS) จะถือหุ้นเพิ่มเป็น 66.17% ซึ่งจะต้องดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นการทั่วไปจากผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยราคาทำคำเสนอซื้อต้องไม่ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ผู้ทำคำเสนอซื้อและบุคคลตามมาตรา 258 ของผู้ทำคำเสนอซื้อได้มาในช่วง 90 วัน ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่าเมื่อมีการทำรายการซื้อขายนี้เกิดขึ้น และต้องมีการทำเทนเดอร์ฯ ที่ราคาดังกล่าวจริงจะถือเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อราคาหุ้น TICON หรือไม่อย่างไร

Back to top button