อย่าเคลิ้มตาม “จีดีพี”พลวัต2015
เมื่อสองสามวันมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสหนึ่งโตดีกว่าที่คาดไว้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับไม่ตื่นเต้น และบางคนถึงขนาดลดประมาณการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
เมื่อสองสามวันมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสหนึ่งโตดีกว่าที่คาดไว้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับไม่ตื่นเต้น และบางคนถึงขนาดลดประมาณการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ทิม ควินแลนด์ นักเศรษฐศาสตร์ของเวลส์ ฟาร์โก ซีเคียวริตีส์ ตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่มีความดีใจที่ข้อมูลเศรษฐกิจดีกว่าคาด แต่มีสองอย่างที่มาบดบังความสดใสของตัวเลขเศรษฐกิจนี้ อย่างแรกคือ สินค้าคงคลังโต ซึ่งช่วยเพิ่มการขยายตัวรายไตรมาส 0.5% เมื่อการเพิ่มสินค้าคงคลังเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตแล้ว เศรษฐกิจอาจจะโตแค่ในระยะสั้นถึงแม้ว่าสินค้าคงคลังจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงมาสามไตรมาสติดต่อกัน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ญี่ปุ่นขยายตัว 2.4% ในช่วงไตรมาสหนึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับนักเศรษฐศาสตร์เพราะผลการสำรวจก่อนหน้านักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะโตแค่ 1.5% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ได้มีการปรับการเติบโตของไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคม ลงเหลือ 1.1% จากที่ไตรมาสก่อนหน้าจีดีพีโต 1.5%
นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ก็วิตกเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง
มาร์ติน ชูลซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของฟูจิตสึ รีเสิร์ช อินสติติว บอกว่า ในที่สุดแล้วธุรกิจจะต้องขายสินค้า ซึ่งต้องมีดีมานด์ภายในประเทศ แต่ในขณะนี้ดีมานด์ภายในประเทศของญี่ปุ่นยังคงต่ำอยู่ และจนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้กระตุ้นการส่งออกอย่างที่เคยทำกันมา
ชูลซ์ยังวิตกว่าเมื่อมีการขายสินค้าคงคลังเข้าสู่ตลาดอย่างรุนแรงมากขึ้น ก็อาจจะหมายถึงว่า บริษัทเริ่มที่จะหั่นราคาสินค้าอีกครั้ง ซึ่งจะสวนทางกับความพยายามร่วมกันของประเทศที่จะทำให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่คนญี่ปุ่นลำบากลำบนมานานหลายทศวรรษ และไม่คาดว่าบริษัทญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้นค่าแรงจนกว่าจะถึงปีหน้า ซึ่งอาจทำให้ดีมานด์ภายในประเทศลดลง จนกว่าจะถึงเวลานั้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ไม่ตื่นเต้นกับตัวเลขเศรษฐกิจ อาจจะอยู่ที่ว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส มันเป็นตัวเลขที่ยกยอปอปั้นกันมากเกินไป
แม้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา แต่ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสเดือนมกราคม-มีนาคม ยังคงต่ำว่าหนึ่งปีก่อน 1.4% ดังนั้น ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มีความยินดีต่อการเติบโตที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสหนึ่ง แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันสูญเสียโอกาส บางคนจึงไม่ประทับใจกับการเติบโตที่สูงกว่าคาดจนต้องลดประมาณการที่เหลือของปีนี้
โนมูระคาดการณ์ว่า จีดีพีญี่ปุ่นในปี 58 จะโตแค่ 0.7% ลดลงจาก 1.2% ในปีก่อนหน้า แม้ว่าไตรมาสแรกดีกว่าคาดแต่คาดว่าไตรมาสสองจะโตลดลงเพราะการผลิตในภาครถยนต์และภาคเหล็กกล้าจะปรับฐานชั่วคราว ซึ่งจะทำให้สินค้าคงคลังลดลง
นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทอื่นๆ ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในด้านลบเช่นเดิม นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิคส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ดัชนีหลายๆ ตัวชี้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสสอง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมต่ำกว่าเดือนมกราคม 4% และดัชนีพีเอ็มไอในภาคผลิตต่ำสุดในรอบหลายเดือนในเดือนเมษายน ซึ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจไม่น่าจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิคส์ จึงยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่าจีดีพีญี่ปุ่นจะไม่โตในปีนี้
ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ตื่นเต้นกับการเติบโตของไตรมาสหนึ่ง คือ สามปีติดต่อกันมาแล้วที่จีดีพีไตรมาสหนึ่งของญี่ปุ่นโตเพิ่มขึ้น แต่ก็เพียงเพื่อจะสร้างความผิดหวังในไตรมาสต่อๆ มาเท่านั้นเอง
ตัวอย่างของญี่ปุ่นน่าจะช่วยเตือนใจประเทศอื่นๆ ได้ด้วยว่า อย่าหลงเคลิ้มไปกับจีดีพีที่ดีกว่าคาด อย่าคิดว่าหากไตรมาสหนึ่งโตแล้ว ไตรมาสต่อมาหรือเศรษฐกิจทั้งปีน่าจะสดใส ต้องลงไปดูให้ลึกว่าตัวเลขที่รัฐบาลแถลงดีจริงๆ หรือแค่นำความจริงเพียงครึ่งเดียวมาอวด