THCOM ร่วง 4% นิวโลว์ในรอบ 6 ปี หลังพับแผนหยุดยิงดาวเทียมใหม่ถึงปี 64

THCOM ร่วง 4% นิวโลว์ในรอบ 6 ปี หลังพับแผนหยุดยิงดาวเทียมใหม่ถึงปี 64 เหตุนโยบายรัฐไม่ชัดเจน โดยหุ้นปิดตลาดวันนี้(13ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 11.20 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 4.27% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 161.38 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ปิดตลาดวันนี้(13ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 11.20 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 4.27% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 161.38 ล้านบาท ราคาหุ้นทำนิวโลว์ในรอบ 6  ปี 1 เดือน โดยนับตั้งแต่หุ้นเคยทดสอบระดับ 11.20 บาท เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555

ด้านนายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ชะลอแผนการจัดส่งดาวเทียมไทยคม 9 หลังจากซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอมและอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของไทยคม 4 ยกเลิกจองเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 9 เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการดาวเทียมของประเทศ ล่าช้ามากว่า 1 ปี

ขณะเดียวกันบริษัทยังไม่มีแผนลงทุนสร้างดาวเทียมดวงใหม่จนถึงปี 2564 เนื่องจากในปัจจุบันการสร้างดาวเทียมแบบทั่วไปจะมีเรื่องขอต้นทุนค่าใบอนุญาตหรือค่าสัมปทาน ดังนั้นหากเราไม่มีความแน่นอนของลูกค้าที่จะซื้อคาปาซิตี้แบบเหมากับบริษัท ก็จะยังไม่มีการพิจารณาอนุมัติการลงทุนใหม่ และดาวเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังสามารถรองรับลูกค้าได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการดาวเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต ในส่วนนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีอยู่หลายๆ อย่าง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการยืดอายุดาวเทียมให้ใช้งานต่อได้ โดยที่ต้นทุนต่ำลงกว่าเดิมทำให้ดาวเทียมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มอีกด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเทียมในปัจจุบันบริษัทให้บริการอยู่ทั้งหมด 5 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 4, 5, 6, 7 และ 8 โดยดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์นั้น อัตราการเช่าช่องสัญญาณลดลงไปมาก หลังจากปี 2560 โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (NBN) ยกเลิกการใช้งาน และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT สิ้นสุดสัญญาการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้หาโอกาสใหม่ๆ ด้วยการหาลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการรายย่อย (retail business) ในออสเตรเลียแทน และในส่วนของ TOT ก็ได้มีการต่อสัญญาเช่าใช้บริการสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ TOT โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นไม่สามารถเข้าถึง

ขณะที่ตลาดในจีน บริษัทได้เจรจาพันธมิตรใหม่ในจีนอยู่ 5-6 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปจำนวน 1 รายในช่วงกลางปี 2561 ส่วนในตลาดอินเดียมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันมีการใช่ช่องสัญญาณราว 3% จากทั้งหมดมีคาปาซิตี้ 17% ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 บริษัทมีแผนขยายระยะเวลาการใช้ออกไปอย่างต่ำ 5 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 2564 เนื่องจากไทยคม 5 มีลูกค้าเต็มช่องสัญญาณทั้งหมด

ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 6 พยายามหาลูกค้าในแอฟริกาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอัตราการใช้ช่องสัญญาณประมาณ 20% แต่ตลาดแอฟริกายังคงมีความท้าทาย จากการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง สำหรับดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องใช้เวลา 15-36 เดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการตั้งอนุญาโตตุลาการของทั้ง 2 ฝ่าย แต่เชื่อว่าจะมีการเจรจาเพื่อประโยชน์ของประเทศ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล เพื่อปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเพิ่มในส่วนที่เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตามในปี 2561 ดาวเทียมยังเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70-80% ของรายได้รวม

 

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า THCOM ได้ประกาศแผนธุรกิจใหม่ โดยจะหยุดยิงดาวเทียมดวงที่  4, 5 และ 6 ที่จะครบกำหนดในปี 2564 เพราะนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจนใน 2 เรื่อง  คือ 1) การจ่ายค่าสัมปทาน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 ดวงจ่ายส่วนแบ่งรายได้บนสัมปทานที่ 22.5% สูงว่า ดาวเทียมดวงที่  7 และ 8  ซึ่งจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐบนใบอนุญาตที่ 4%  จะครบอายุ 2575  ซึ่งยังมีความเสี่ยงเพราะรัฐอาจกลับลำ และเรียกร้องให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้บนสัมปทานที่ 22.5% และความเสี่ยงที่ 2  คือ หน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐมี 2  หน่วยงาน คือ กระทรวง ICT ดูแลเรื่องวงโคจร กับ กสทช  ดูแลเรื่องใบอนุญาต  สร้างความสับสน และ ยุ่งยากต่อผู้ประกอบการ เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ จึงคาดว่าธุรกิจนี้ไม่น่าดึงดูดรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจดาวเทียมน่าจะลดความต้องการลดลงตามธุรกิจบันเทิง (ดิจิตอลทีวี) ที่ลดบทบาทลง หลังจาก Social Network  เป็นที่นิยมในวงกว้าง  ช่องทางบันเทิงใหม่ ๆ  มีให้เลือก ทั้งสะดวกและต้นทุนต่ำ  และความต้องการจากลูกค้าในต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในจีน (iPSTAR ในเรื่องความมั่นคงในประเทศ)

แผนธุรกิจระยะสั้นจะยิงเชื้อเพลิงไปเติมให้กับดาวเทียมที่กำลังจะหมดอายุคือ ดวงที่  4, 5 และ 6 แทน  เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า แต่ตรงนี้จะสร้างความเสี่ยงต่อธุรกิจในระยะสั้น

ส่วนแผนระยะยาวจะหันไปพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับ digital platform, AI, Internet of Things, Blockchain เป็นต้น  แต่ยังคงต้องใช้เวลา

ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์ ASPS ต้องคงประมาณลง โดยถอดสมมติฐานเดิมที่จะยิงดวงเทียมทั้ง 3 ดวงขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่มูลค่าหุ้นของ THCOM ลดลงจาก 25 บาท เหลือ 13.8 บาท  พร้อมกับปรับลดคำแนะนำจากซื้อเป็น Switch ตัวอื่น

Back to top button