เงินดิจิทัล กับ สงครามชักเย่อ 

ความสำเร็จที่เกินคาดจากการพรีเซลสินค้าใหม่ที่เรียกว่า “ดิจิทัล โทเคน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency ซึ่งเพียงแค่วันแรกก็สามารถมีคำสั่งซื้อจากผู้ที่สนใจมากถึง 87% ของยอดทั้งหมดที่เสนอขายมูลค่ารวม 660 ล้านบาท มีนัยสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ความสำเร็จที่เกินคาดจากการพรีเซลสินค้าใหม่ที่เรียกว่า “ดิจิทัล โทเคน” ที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency ซึ่งเพียงแค่วันแรกก็สามารถมีคำสั่งซื้อจากผู้ที่สนใจมากถึง 87% ของยอดทั้งหมดที่เสนอขายมูลค่ารวม 660 ล้านบาท มีนัยสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ความสำเร็จนี้จะเรียกว่า เป็นความกล้าหาญของนักบุกเบิกนวัตกรรมที่นำโดย นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่สามารสร้างปรากฏการณ์ที่ถือเป็น “หลักหมุดใหม่” ของธุรกรรมการเงินร่วมสมัย หรือ เป็นการสร้างฟองสบู่ทางการเงินระลอกใหม่ ก็ย่อมได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่ยังต้องผ่านการพิสูจน์ผลลัพธ์ในระยะยาวกันต่อไป

เท่าที่รับรู้มา การเตรียมการออกสิ่งที่เรียกว่า ดิจิทัล โทเคน (ในชื่อ JFin Coin) จำนวน 100 ล้านหน่วย ราคา 6.6 บาท/หน่วย กว่าจะมาถึงวานนี้ อันเป็นวันแรกของการขายรอบแรก 14-28 กุมภาพันธ์ (และจะเปิดขายรอบ Initial Coin Offering จริงวันที่ 1-31 มี.ค.ปีนี้) ก่อนการซื้อขายจริงในตลาดรอง วันที่ 2 เมษายน ถือว่ามีความพรักพร้อมอย่างดี มีที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี ทางการเงิน และทางกฎหมายครบครัน กว่าจะเปิดตัวให้บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ JMART ถือหุ้นสัดส่วน 80% เดินหน้าระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือ ICO

เป้าหมายของการระดมทุนนี้ ระบุว่า จะนำไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง หรือ Decentralize Digital Lending Platform (DDLP) อันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมที่กลุ่ม JMART วางแผนรองรับเพื่อการสร้างอาณาจักรในการบริหารจัดการหนี้รายย่อย ที่กลุ่มนี้ดำเนินการมาและมีความชำนาญมานานกว่า 15 ปีแล้วนับแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา

ผู้บริหาร JMART ยอมรับว่า เป้าหมายการระดมทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 660 ล้านบาท ผ่าน Jfin Coin นี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ในอนาคต ที่ต้องการระดมทุนให้ครบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 10,000 ล้านบาท

วิสัยทัศน์อันยาวไกลดังกล่าว ท้าทายความสำเร็จอย่างมาก เพราะช่องทางของการระดมทุนดังกล่าว มีอุปสรรคสำคัญที่ขวางอยู่ข้างหน้าหลายด่านมาก โดยเฉพาะด่านสำคัญที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ เรียกว่า “สงครามชักเย่อกับระบบธนาคาร (กลางและพาณิชย์)”

นวัตกรรมของเงินดิจิทัล (ที่ปัจจุบันมี บิตคอยน์ เป็นสัญลักษณ์และเป้าเรดาร์โดดเด่นสุด) ได้กลายสภาพเป็น “ปีศาจแห่งยุคสมัย” ที่ท้าทายและปฏิเสธอำนาจของธนาคารทั้งระบบทุกแห่ง เพราะมีจุดยืนทางด้านปรัชญาที่เรียกร้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของตลาดธุรกรรมอย่างถึงที่สุด ตรงกันข้ามกับปรัชญาของธุรกิจธนาคาร ที่มีธนาคารกลางเป็นตัวการ ที่เน้นหลักการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

หัวใจหลักของเงินดิจิทัล คือ การตัดเงินสด (ตัวแทนของธนาคารกลาง) และตัดธนาคาร (ต้นทุนตัวกลางของธุรรรม) ทิ้งไป โดยที่สามารถทำโดยตรง ผ่านอุปกรณ์พกพา มีค่าเท่ากับการตัดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล แต่มีจุดอ่อนคือไม่เหมาะสำหรับธุรกรรมภายในประเทศ (ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูง) แต่เหมาะกับธุรกรรมระหว่างประเทศที่ต้องทำข้ามสกุลเงิน และจุดเด่นสำคัญที่เหนือกว่าเงินทั่วไปมาก คือ สามารถนำไปเก็งกำไรกันได้

เป้าหมายของผู้พัฒนาเงินดิจิทัล ซึ่งเน้นออกแบบตัวระบบไร้ศูนย์กลาง และไร้เจ้าของชัดเจน ผ่านกระบวนการทำงานด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับตัวผู้ใช้ (User) เองเพื่อเก็บข้อมูลธุรกรรม และใช้คอมพิวเตอร์ของนักขุด (Miner) เพื่อประมวลผล ทำให้แนวทางพัฒนาระบบเงินดิจิทัล เบี่ยงเบนออกไปจากการปฏิเสธ “การรวบอำนาจเก่า” มาเป็นการ “ท้าทายอำนาจเก่า” โดยตรง ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเงินดิจิทัลได้รับความนิยมมากเท่าใด การถอดรื้อระบบ (ใกล้เคียงกับการปฏิวัติวงการเงินในอดีต) จะเข้มข้นขึ้น นอกจากจะทำให้มูลค่าของสกุลเงินสำคัญของโลกถูก “ดูเบา” หรือ “ลดเครดิต” ในสายตาของนักลงทุนด้วยอัตราเร่งแล้ว ยังเป็นผลให้ระบบธนาคารถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงโดยปริยาย

ท่าทีของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งออกหนังสือ “ขอความร่วมมือ” (คำสั่ง)  5 ข้อ (ห้ามลงทุนซื้อขาย ห้ามบริการรับแลกเปลี่ยน ห้ามสร้างแพลตฟอร์มสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าทำธุรกรรม ห้ามลูกค้าใช้บัตรเครดิต และห้ามสนับสนุนหรือให้คำปรึกษา) รวมทั้งห้ามให้ลูกค้าเปิดบัญชี รวมทั้งใช้ KYC/CDO เคร่งครัด จึงไม่ใช่เรื่องแปลก 

เช่นเดียวกัน การขานรับของสมาคมธนาคารไทยในทิศทางเดียวกันอย่างทันทีทันควัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการต่อต้านเงินดิจิทัลอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยอ้างเหตุผลสวยหรูว่าเพื่อ “…ร่วมป้องกันไม่ให้การทำธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย...” เป็นขั้นตอนของกระบวนการสร้าง “แนวร่วมไดโนเสาร์ทางการเงิน” ที่ต้องเกิดขึ้น

ท่าทีดังกล่าว ไม่มีอะไรต่างกันกับ “ไดโนเสาร์ร่วมยุค” อย่างธนาคารกลางของทุกประเทศ และบรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และร้านค้าปลีกทั้งหลาย ที่แสดงท่าทีต่อต้าน หรือยอมรับเงินดิจิทัลในธุรกรรมปกติต่ำมาก และรวมทั้งปฏิเสธรับซื้อขายเงินดิจิทัลโดยเปิดเผยและเป็นทางการ

สงครามชักเย่อระหว่างเงินดิจิทัล กับไดโนเสาร์ทางการเงินที่แพร่หลายในโลก ได้เริ่มต้นขึ้นในไทยแล้วตั้งแต่วันวาเลนไทน์ปีนี้ จากความสำเร็จของ Jfin Coin วานนี้

Back to top button