พาราสาวะถี

หากไม่มีอำนาจพิเศษและมาตราวิเศษอยู่ในมือ เชื่อว่าเสียงวิจารณ์คงจะดังกระหึ่มมาตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศได้สักกระยะหนึ่งแล้ว กับปมการทุจริตคอร์รัปชัน มีเสียงสะท้อนหลายเรื่องหลายกรณี แต่ผู้มีอำนาจเลือกที่จะใช้วิธีสงบสยบความเคลื่อนไหว ปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วคนก็จะลืมไปเอง หากจำกันได้นับตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที กรณีไมค์ทองคำ


อรชุน

หากไม่มีอำนาจพิเศษและมาตราวิเศษอยู่ในมือ เชื่อว่าเสียงวิจารณ์คงจะดังกระหึ่มมาตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามาบริหารประเทศได้สักกระยะหนึ่งแล้ว กับปมการทุจริตคอร์รัปชัน มีเสียงสะท้อนหลายเรื่องหลายกรณี แต่ผู้มีอำนาจเลือกที่จะใช้วิธีสงบสยบความเคลื่อนไหว ปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วคนก็จะลืมไปเอง หากจำกันได้นับตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที กรณีไมค์ทองคำ

ครานั้นเกิดวาทกรรม ไม่ได้ทุจริตแต่ส่วนต่างมากเกินไป เท่านั้นเอง จนผ่านมาถึงอุทยานราชภักดิ์ เรียกรับหัวคิวแต่นำไปบริจาคหมดแล้วก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด แม้กระทั่งการขุดลอกคลองทั่วประเทศ ที่เอาไปประเคนให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ บนเงื่อนไขชัดเจนห้ามจ้างเหมาช่วง จนมีการทิ้งงานและถูกร้องเรื่องปมทุจริต แต่งตั้งคณะกรรมการสอบกันมาจะ 3 ปีอยู่แล้ววันนี้ยังเงียบฉี่

เหล่านี้คือภาวะการตรวจสอบเจอทางตันหรือกระบวนการตรวจสอบทำงานไม่ได้ โดยที่ผู้มีอำนาจก็ยืนยันมาตลอดทุกอย่างทุกโครงการของรัฐบาลนี้ไม่มีการทุจริต หากพบจะจัดการขั้นเด็ดขาดทันที แต่กรณีที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งหมด ก็เป็นบทพิสูจน์ใช้กลไกต่างๆ ที่มีเลือกที่จะเป่าให้เรื่องเงียบและจบแบบสังคมยังเกิดคำถาม โดยที่ใครหน้าไหนก็แตะไม่ได้ ทำไปทำมาคนที่เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลจะติดคุกเสียเอง ขณะที่ฝ่ายทุจริต คิดไม่ซื่อ ลอยนวลสบายใจเฉิบ

แต่ล่าสุด เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานการณ์ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทย พบปัญหาและการคอร์รัปชันมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประมาณการว่า มูลค่าการคอร์รัปชันอยู่ที่ 5-15% ของงบประมาณหรือ 6.62 หมื่นล้านบาท ถึง 1.98 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.29-6.86% ของงบประมาณ กระทบต่อจีดีพีประเทศ 0.41-1.23%

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุสาเหตุสำคัญมาจากกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจ กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส ความไม่เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่ ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า จากการทำสำรวจมาทั้งหมด 15 ครั้งหรือ 7 ปีครึ่ง ครั้งนี้น่าห่วงว่ามีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้นและมีสัญญาณความรุนแรงมากขึ้นหลังจากลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2558

น่าสนใจคือ ค่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเริ่มมีสัญญาณดิ่งลงเรื่อยๆ หลังปี 2558 หลังเริ่มมีการ จัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยพบว่า อัตราการจ่ายใต้โต๊ะในปี 2560 อยู่ที่ 5-15% ถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 2558 ที่จ่ายเฉลี่ย 1-15% และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1-2 แสนล้านบาท ขณะที่วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม หรือ WEF จะมีการประกาศผลคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย หรือค่า CPI ประจำปี 2560

ปัจจุบันไทยมีคะแนนอยู่ที่ 35 คะแนน ติดอันดับ 101 จาก 176 ประเทศ ลดลงจากปี 2558 ที่อยู่อันดับ 76 ตรงนี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ข้อมูลทางการหรือการโพนทะนาของฝ่ายกุมอำนาจที่บอกว่า รัฐบาลคนดีไม่มีทุจริตคดโกงนั้นเป็นจริงหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม ออกมายืนยันรัฐบาลมั่นใจว่าได้แก้ปัญหานี้ด้วยความเหน็ดเหนื่อย เอาจริงเอาจัง และทำหลายเรื่องทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการในทางที่ทำกับตัวบุคคล แต่อาจมีบางจุดที่คนในสังคมยังสงสัยหรือมีข้อสังเกต ซึ่งต้องทำไปตามกระบวนการที่ยังดำเนินการไม่สิ้นสุด

นั่นเป็นเพียงแค่ “คำแก้ตัว” ความเป็นจริงทั้งสิ่งที่เป็นวิชาการและแวดวงของผู้ที่รับงานจากส่วนราชการ ต่างรู้กันดีว่า “เงินทอน” นั้นยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะปราศจากนักการเมืองชั่ว พรรคการเมืองเลวแล้วก็ตาม ที่หนักข้อไปกว่านั้น ในยุครัฐบาลเลือกตั้งพวกขี้ฉ้อจะกระจายตัวไปตามอำนาจของแต่ละกลุ่มแต่ละพรรค แต่สมัยนี้มีพวกกินรวบหรือจะเรียกว่าปากมันกันอยู่กลุ่มเดียวก็ว่าได้

น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันที่ท่านผู้นำบอกว่ามีทีมงานพิเศษที่ใช้คอยตรวจสอบเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ทำไมจึงไม่เจอ ต้องคอยมาเรียกร้องถามหาใบเสร็จจากคนที่เปิดโปงอยู่เรื่อย หรือเป็นเพราะจุกน้ำท่วมปาก เจอแล้วจัดการไม่ได้ ซึ่งก็พอจะเข้าใจ หากเป็นการลูบหน้าปะจมูก ก็ควรที่จะเตือนให้คนเหล่านั้นรู้จักเพลามือกันบ้าง สวาปามกันจนพุงกางแล้ว ก็ยังจะยัดทะนานจนให้ท้องแตกตายกันเลยหรืออย่างไร

หากเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมือง คงคิดได้ว่าส่วนหนึ่งของการรับใต้โต๊ะเพื่อนำไปใช้เป็นทุนรอนสำหรับการเลือกตั้ง แต่นี่เป็นรัฐบาลคสช. เป็นคนดีที่หากเชื่อตามที่ท่านผู้นำว่าคือไม่สืบทอดอำนาจ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสะสมกระสุนดินดำกันมากมายขนาดนั้น นี่แหละอีกหนึ่งสัจธรรมของคนที่เข้ามามีอำนาจไม่ว่ายุคไหนพวกขี้ฉ้อไม่เคยหมดไป ยิ่งในยุคที่ข้าราชการเป็นใหญ่ยิ่งรับประทานกันอิ่มแปล้

ออกหมายจับกันต่อเนื่องสำหรับกลุ่มเคลื่อนไหวอยากเลือกตั้งจากกลุ่มเอ็มบีเค 39 ล่าสุดก็เป็นพวกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 43 รายที่ถูกคสช.ร้องตำรวจเอาผิดข้อหาขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หนึ่งในนั้นมีชื่อ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย

จนเจ้าตัวออกมาโวยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนแรกรู้ตัวเป็น 1 ใน 43 ผู้ถูกกล่าวหาก็รู้สึกผิดคาดและโกรธในเวลาเดียวกัน ผิดคาดเพราะไม่คิดว่าลำพังแต่เพียงร่วมฟังการปราศรัยท่ามกลางคนนับพันจะมีความผิดได้ ไม่เหมือนครั้งวี วอล์ค เดินมิตรภาพที่อาจดูเป็นแกนนำ โกรธเพราะรู้สึกว่ากำลังตกเป็นเป้าซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรต่อไปนี้ก็สามารถถูกตั้งข้อหาได้ทั้งนั้น แต่มานึกดูอีกทีก็ดีเหมือนกันที่ช่วยให้ตระหนักว่าเผด็จการนั้นไร้เหตุผล ไร้ยางอาย ไม่มีศักดิ์ศรี ขี้ขลาด และก็อำมหิตเลือดเย็นกว่าที่เราเคยคิดไว้นัก

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มดังกล่าวไม่ได้กลัวต่อการถูกดำเนินคดี มีการกางปฏิทินกิจกรรม โดยเริ่มที่หน้าหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ และบอกว่าจะมีกิจกรรมเซอร์ไพรส์แก่คสช.ด้วย ที่ต้องขีดเส้นใต้คือมีการวางไทม์ไลน์จะชุมนุมทุกวันเสาร์ของเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะวันที่ 19-22 พฤษภาคม จะปักหลักชุมนุมค้างคืนจนกว่าประชาชนจะได้อำนาจกลับคืนมา เปิดหน้าและท้าทายกันแบบนี้ คงต้องเฝ้ามองอย่างไม่กะพริบตาว่าจะโดนอะไรตามมาหรือไม่

Back to top button