พาราสาวะถี

หลังดัชนีคอร์รัปชันของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่ายุครัฐบาลคสช. ตัวเลขเรียกรับหัวคิวยังมีอยู่และสูงขึ้น นับตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทีมงานกระบอกเสียงก็รีบนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแถลงไขถึงแนวทางนโยบายที่ทำเกี่ยวกับการต้านโกงและปราบโกงผ่านรายการหกโมงเย็นทันทีทันใด


อรชุน

หลังดัชนีคอร์รัปชันของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่ายุครัฐบาลคสช. ตัวเลขเรียกรับหัวคิวยังมีอยู่และสูงขึ้น นับตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทีมงานกระบอกเสียงก็รีบนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแถลงไขถึงแนวทางนโยบายที่ทำเกี่ยวกับการต้านโกงและปราบโกงผ่านรายการหกโมงเย็นทันทีทันใด

เป็นงานถนัดของท่านโฆษกและชาวคณะ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไรไปแล้ว หรือยกตัวอย่างโครงการโตไปไม่โกง เพราะสิ่งที่เห็นกันทนโท่คือ ตัวเลขที่ภาคเอกชน ผู้ประมูลงานจากภาครัฐยังต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินทอนกันอยู่ นั่นหมายความว่า กว่าจะรอเจนเนอเรชั่นที่สร้างค่านิยมและปลูกฝังความคิดไม่ทุจริต คอร์รัปชัน ปรากฏว่าคนในปัจจุบันหรือผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ วาสนา สวาปามกันไปเต็มคราบ

มันจึงไม่ใช่แค่เจตนาว่าจะไม่โกงหรือคำพูดว่าตัวฉันโปร่งใส ตัวฉันไม่ทุจริต หากแต่คนรอบข้างยังเรียกรับผลประโยชน์กันบานตะไท เหมือนคนตายอดตายอยาก พฤติกรรมไม่ต่างจากนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวที่ตัวเองกล่าวหา มิหนำซ้ำ ตัวเลขและการกระทำบางอย่างยังหนักข้อกว่าเสียด้วยซ้ำ เมื่อยังมีการคอร์รัปชันและแนวโน้มก็สูงขึ้นกว่าเมื่อคราวเข้ามาสู่อำนาจใหม่ๆ แค่อธิบายหรือแยกเขี้ยวขู่อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ มันต้องมีการเชือดคนพันธุ์โกงประเภทขาใหญ่ทั้งหลายให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย

ไม่เพียงแค่ดัชนีคอร์รัปชันเท่านั้นที่สูงขึ้น คู่ขนานกันไปก็จะพบว่า ผลสำรวจของโพลแทบทุกสำนัก พบว่าคะแนนนิยมที่มีตัวรัฐบาลเผด็จการรวมถึงตัวผู้นำก็ลดระดับอยู่ในเกณฑ์สอบผ่านแบบเฉียดฉิวอยู่เรื่อยๆ เป็นภาพสะท้อนภาวะขาลงได้เป็นอย่างดี ล่าสุด ก็คิวของสวนดุสิตโพล ที่พบว่า ประชาชนให้คะแนนรัฐบาล 5.35 จากเต็ม 10 คะแนน

เมื่อมองไปยังผลงานโดยภาพรวมที่เคยได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ อย่างด้านความมั่นคง วันนี้ประชาชนให้อยู่ที่ 5.83 คะแนน เช่นเดียวกับผลงานด้านสังคมที่ ได้ 5.39 คะแนน ส่วนผลงานที่สอบตกหนีไม่พ้นด้านเศรษฐกิจ ได้ 4.49 คะแนน ส่วนผลงานด้านการเมือง ได้ 4.64 คะแนน แน่นอนว่า สองประเด็นหลังนั้น มันมีคำถามต่อยอดที่จะอธิบายต่อไป

เพราะเมื่อถามว่า ผลงานรัฐบาลที่ประชาชนไม่พึงพอใจ อันดับ 1 คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 53.05 อันดับ 2 การจัดการการทุจริตคอร์รัปชันร้อยละ 37.28 อันดับ 3 การบริหารประเทศ การแก้ปัญหาทางการเมืองร้อยละ 29.93 อันดับ 4 ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาความยากจน หนี้สิน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมร้อยละ  23.30 และอันดับ 5 เรื่องการจัดซื้ออาวุธทางทหาร เรือดำน้ำร้อยละ 18.64

จากตัวเลขดัชนีคอร์รัปชั่นมาจนถึงความไม่พอใจของประชาชนในการทำงานของรัฐบาลคสช. อาจมองได้อย่างสัมพันธ์กันว่า เมื่อประชาชนเห็นว่าการแก้ไขปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่รัฐบาลก็มุ่งมั่นในการจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ แน่นอน ย่อมหนีไม่พ้นข้อกังขาว่า มีผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดแอบแฝงด้วยหรือไม่

แม้จะมีคำอธิบายมาโดยตลอด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อในความจำเป็นของการจัดซื้อเหล่านั้น ยิ่งรวบรวมข้อมูลตัวเลขนับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการเข้ามาบริหารประเทศ จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า มีการใช้งบประมาณเพื่อการนี้ไปมากมายมหาศาลขนาดไหน เมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อสิ่งไหนมากกว่ากัน

หากเป็นข้อกล่าวหาจากฝ่ายการเมืองก็พอจะตอบโต้ได้ว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยอคติ คิดที่จะล้มล้างและดิสเครดิตผู้มีอำนาจ แต่เมื่อเป็นผลสำรวจของสถาบันการศึกษาและจำนวนไม่น้อยก็เห็นได้ชัดว่า สนับสนุนคณะรัฐประหารมาตั้งแต่ต้นเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้กระมังที่มันจึงเกิดการใช้อภินิหารทางกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

จะว่าไปแล้วเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน คงเป็นดังที่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ นำเสนอว่า หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งที่ถูกกล่าวหาป้ายสีใส่ไข่จากพวกนิยมเผด็จการ ไม่ว่าจะดีเลวแค่ไหน แต่ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบได้ ผิดกับเผด็จการที่ปกครองบ้านเมืองด้วยปลายกระบอกปืนโดยไม่มีฝ่ายค้าน แม้องค์กรต่างๆ จะช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็พบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย

แม้ว่าจะมีการปิดกั้นหรือทำให้กระบวนการตรวจสอบง่อยเปลี้ยเสียขา แต่ยังโชคดีที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตกันคนละไม้คนละมือ จนความจริงปรากฏออกมาหลายเรื่อง ดังนั้น เรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจึงควรยกเครดิตให้กับพลเมืองในโซเชียลมากกว่าคสช. ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ฝ่ายเผด็จการพยายามจะสกัดไม่ให้คนได้ใช้งานกันอย่างเต็มความสามารถ ทั้งๆ ที่หากเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไร

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เริ่มเกิดคำถามในประเด็นความโปร่งใสหลายประการ อีกด้าน การพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ที่เวลานี้อยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ที่กลัวกันเหลือเกิน หนีไม่พ้นการปีนเกลียวกันระหว่างสนช.และกรธ. จนนำไปสู่การคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับ

ทั้งๆ ที่ยืนยันกันจากทุกฝ่ายในระดับขององคาพยพแม่น้ำ 5 สายว่าไม่น่าจะเกิดภาพเช่นนั้น แต่ก็ไม่มีใครการันตีร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหากมีการให้ร่างกฎหมายตกไป ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอะไรไว้อีกว่าจะต้องยกร่างใหม่อย่างไร ใครยกร่าง ใช้เวลาเท่าไหร่ กรณีจึงอาจเข้าใจได้ว่าเป็นความจงใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องการให้เกิดสภาพเช่นนั้นหรือไม่ จากที่หลายคนได้เห็นเนติบริกรชั้นครูสำแดงเดชกันมาหลายหน รอบนี้จึงอดไม่ได้ที่จะคิดว่าจะเกิดภาวะการโกงกฎหมายเพื่อให้ “เขาอยู่ยาว” อีกหรือเปล่า

Back to top button