เงินดิจิทัลสังเคราะห์

ท่าทีล่าสุดที่เปลี่ยนขั้วของผู้บริหารสูงสุดของ FSS (Financial Supervisory Service) แห่งเกาหลีใต้ นาย โช เฮือง ซิก จากที่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับบิตคอยน์ในฐานะสิ่งที่ผิดกฎหมาย มาเป็นท่าทีที่ผ่อนปรนมากขึ้น มีความหมายลึกซึ้งอย่างมากว่า ไดโนเสาร์ทางการเงินที่ยอมรับการปรับตัว อาจสามารถจะอยู่รอดได้ในยุคสมัยของความแปรปรวนที่เรียกว่า disruptive innovation


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ท่าทีล่าสุดที่เปลี่ยนขั้วของผู้บริหารสูงสุดของ FSS (Financial Supervisory Service) แห่งเกาหลีใต้ นาย โช เฮือง ซิก จากที่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับบิตคอยน์ในฐานะสิ่งที่ผิดกฎหมาย มาเป็นท่าทีที่ผ่อนปรนมากขึ้น มีความหมายลึกซึ้งอย่างมากว่า ไดโนเสาร์ทางการเงินที่ยอมรับการปรับตัว อาจสามารถจะอยู่รอดได้ในยุคสมัยของความแปรปรวนที่เรียกว่า disruptive innovation

นายโช ยอมรับว่า เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารทำการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ตามปกติได้ และกำลังพยายามดำเนินการหรือหาความเป็นไปได้อยู่

ท่าทีดังกล่าว แม้จะอ้างว่าเป็นความเห็นส่วนตัว และไม่เป็นทางการ ก็เปรียบได้กับ การเปิดผืนฟ้า ให้กับเงินสกุลดิจิทัลในโลก

ผลสะท้อนในทันทีแบบเข่ากระตุก คือ ราคาบิตคอยน์ในตลาดซื้อขายผ่านดิจิทัลต่างๆ ในโลกออนไลน์เมื่อวานนี้ พุ่งขึ้นอย่างแรงเหนือ 11,000 ดอลลาร์ในทันทีจากการเก็งกำไร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในทางบวกกำลังจะเกิดขึ้นกับบรรดาหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินที่เริ่มยอมรับว่านวัตกรรมเงินดิจิทัลนั้น ไม่สามารถหยุดยั้งได้ง่ายๆ การดึงระบบการซื้อขายมาอยู่ใต้กติกาที่ทำให้ความเสี่ยง “อยู่ภายใต้การกำกับดูแล” ย่อมมีประโยชน์กว่าการต่อต้านอย่างเปิดเผยและทื่อๆ ด้วยกฎหมาย แล้วปล่อยให้ธุรกรรมดังกล่าวหลบลงใต้ดินที่ยากแก่การกำกับดูแล

เหตุผลเพราะว่า นวัตกรรมของเงินสกุลดิจิทัลนั้นไร้พรมแดน และทำให้เครื่องมือกำกับดูแลรุนเก่าๆ ไร้ประสิทธิภาพในการต่อต้าน

ท่าทีของผู้นำหน่วยงานรัฐอย่างเกาหลีใต้ อาจจะไม่ใช่เป็นกรณีทั่วไป แต่เริ่มเห็นได้ชัดว่า การปรับความคิดในการกำกับดูแลเงินดิจิทัลเริ่มมีการเปลี่ยนไปจากต่อต้านสุดขั้วมาเป็นความพยายามในการ นำธุรกรรมออกจากมุมมืด

แม้ว่าเป้าหมายในการดำเนินการปรับท่าทีนี้จะยังคงสงวนอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐตามความเคยชินเดิมอยู่บ้าง แต่ก็เปิดมุมมองใหม่ให้กับการเริ่มต้นของ “ปฏิสัมพันธ์เชิงบวก” (positive interrelationship) ระหว่างหน่วยงานรัฐในระบบเงินรุ่นเก่ากับเงินดิจิทัล ซึ่งเดิมเคยถือว่าเป็น thesis กับ anti-thesis ที่ต่างขั้วกัน ให้ก้าวสู่การยกระดับใหม่เป็นการสังเคราะห์ที่มีนัยสำคัญต่ออนาคต

ท่าทีของหน่วยงานรัฐเกาหลีใต้ ไม่แตกต่างอะไรกับท่าทีของ ก.ล.ต.ของไทยล่าสุดที่เคยเขียนไปวานนี้ว่า เริ่มจะพบทางออกในการกำกับดูแลการซื้อขายเงินดิจิทัล และการระดมทุนผ่านไอซีโอ โดยถือว่า เริ่มต้นขั้นนี้เป็นขั้นตอนของการเร่งออกเกณฑ์กำกับดูแลเงินดิจิทัล และการระดมทุนด้วยวิธีการเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้แก่คนทั่วไป (ไอซีโอ) โดยเร็ว โดยจะมีทั้งส่วนของ “ดิจิทัล โทเคน” ที่มีลักษณะเข้าข่ายหลักทรัพย์ กับส่วนของ “บิตคอยน์” ที่มีลักษณะเข้าข่ายของเงินรูปแบบใหม่

ท่าทีที่ดูผ่อนปรนของ ก.ล.ต. ของไทย ที่ระบุว่าการดำเนินงานดังกล่าว ไม่ใช่การห้ามหรือสกัดกั้นความเสี่ยงของเงินสกุลดิจิทัล แต่ถือว่า เป็นการกำกับดูแลและให้ความสะดวก เพื่อแยกแยะระหว่างการระดมทุนที่ถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์ออกจากพวกที่ต้องการฉ้อฉล และป้องกันการระดมทุนไปใช้ใน วัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เพราะการห้ามนั้นจะทำให้ผู้ที่ต้องการออก ICO ต้อง “หลบลงใต้ดิน” ถือเป็นจุดเริ่มของการสังเคราะห์อย่างชัดเจน แม้ถ้อยคำที่ใช้จะไม่บ่งบอกเช่นนั้น

การสังเคราะห์นี้ ยังถือได้ว่าไม่อาจสมบูรณ์ เพราะยังมีลักษณะของเกม “ทอม (แมว) กับเจอรี่ (หนู)” แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยที่ดี เพราะอย่างน้อยที่สุด นวัตกรรมของเงินดิจิทัลที่นับวันจะเติบโตมากขึ้นในอัตราเร่ง ยากจะหยุดยั้งได้ แม้ว่าอาจจะลุ่มๆ ดอนๆ และมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าเดิมในอดีตหลายเท่า

กระบวนการเชื่อมโยงธุรกรรมที่กิดจากรากฐานปรัชญาที่ตรงกันข้ามกันระหว่างสกุลเงินจารีตที่มีระบบธนาคารเป็นแกนกลาง และสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ที่กระจายศูนย์ไม่มีแกนกลางและตัวกลางออกไปอย่างชัดเจน อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านการต่อสู้อีกหลายรอบอย่างลองผิดลองถูก

เพียงแต่การเปิดทางให้กับนวัตกรรมของเงินดิจิทัล ลดมุมมองจากเดิมที่ถือว่าเป็น “ปีศาจแห่งยุคสมัย” ที่ท้าทายและปฏิเสธอำนาจของธนาคารทั้งระบบทุกแห่ง เพราะมีจุดยืนทางด้านปรัชญาที่เรียกร้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของธุรกรรมอย่างถึงที่สุด เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยที่ท้าทาย

การมีกระบวนการสังเคราะห์ที่เกิดขึ้น ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว และทำให้อนาคตไม่ร้อนระอุจนเกินกว่าเหตุจากการต่อสู้ของความไร้เหตุผลที่บังเอิญมาอยู่ที่ขั้วตรงกันข้ามกัน

Back to top button