เปิดธีมหุ้นเด่นลุ้นรายได้โต รับยอดส่งออกเดือนม.ค.พุ่ง 18%

เปิดธีมหุ้นเด่นลุ้นรายได้โต รับยอดส่งออกเดือนม.ค.พุ่ง “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้ Q1/61 โตต่อเนื่อง!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมาอยู่ที่ 31.63 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจส่งออกมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามในวันนี้ (22 ก.พ.2561) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนม.ค.61 ขยายตัวสูงเกินคาดที่ 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการขยายตัวและเป็นการเร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค.60 โดยคาดว่ายอดการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรสุทธิของผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก ในแง่ของยอดการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนม.ค.61 ขยายตัวสูงเกินคาดที่ 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่มูลค่าและอัตราการขยายตัวและเป็นการเร่งตัวขึ้นจากเดือน ธ.ค.60 ซึ่งมาจากหลายปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็นโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญรวมไปถึงวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงอยู่

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าไทยตลอดช่วงไตรมาสที่ 1/2561 ให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2561 ยังมีประเด็นที่ยังต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง ประเด็นการต่ออายุ GSP การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารที่นำเข้าของหลายประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคายางพาราที่คาดว่าในปีนี้จะปรับตัวลดลงจากปี 2560 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกยางพารา

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขอรอติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยไปอีกสักระยะ และยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.5% จากปีก่อน” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ การที่ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.61 ออกมาสูงกว่าที่คาด ซึ่งผิดแผกไปจากแบบแผนการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค.จะลดลงจากเดือน ธ.ค. ของปีก่อน แต่ในปี 2560/2561 การส่งออกสินค้าไทยในเดือน ม.ค.61 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,101.4 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ 19,741.1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่

1.การส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญอย่างข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ที่กลับมาขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในเดือน ม.ค.61 โดยในส่วนของการส่งออกข้าวที่เติบโตดีมาจากการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคแอฟริกา อาทิ เบนิน แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน รวมถึงฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นหลังประสบปัญหาอุปทานในประเทศไม่เพียงพอ ผนวกกับราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.61 ที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัวร้อยละ 42.3 จากปีก่อน นั้นมาจากจีน (คู่ค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย) นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเพื่อรองรองรับการผลิตเอทานอลและแอลกอฮอล์ตามนโยบายการใช้พลังงานทดแทนในประเทศหลังสต๊อกข้าวโพดจีน ทยอยลดลงประกอบกับราคามันสำปะหลังปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลพลิกกลับมาขยายตัวดีจากอานิสงส์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอย่างผันผวนของอินโดนีเซีย รวมไปถึงกัมพูชานำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำตาลทรายโลกอยู่ในทิศทางขาลง

2.สินค้าส่งออกศักยภาพในปี 60 ยังเติบโตดี โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 จากอานิสงส์การขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศที่มีฐานการผลิตหรือมีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย อาทิ ตลาดโอเชียเนีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

3.วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวสูงบนเลขสองหลักติดต่อกันนาน 10 เดือน

 

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น “ผู้สื่อข่าว” คาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทย (ตลท.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกที่คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากยอดส่งออกที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องเท่ากับว่าบริษัทเหล่านี้จะมีรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับบริษัทที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ อาทิ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะหุ้นส่งออกนั้นส่วนใหญ่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งเมื่อทำการแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาททำให้บริษัทฯมีกำไรสุทธิน้อยลง

Back to top button