พาราสาวะถี
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือซีพีไอ ประจำปี 2560 ประเทศไทยได้ 37 คะแนนจากเต็ม 100 อยู่อันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ ดีขึ้นกว่าปีก่อนมา 2 คะแนน แต่ยังห่างชั้นหากเทียบกับปี 2558 ที่อยู่ในอันดับ 76 นั่นเป็นแค่ตัวชี้วัดหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญเวลานี้ในภาวะที่ประเทศกำลังจะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ ส่วนต่างที่ถูกเรียกกันติดปากว่า “เงินทอน” ยังคงมีอยู่ แม้จะเป็นยุคของรัฐบาลคนดีไม่มีใครเทียบก็ตาม
อรชุน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือซีพีไอ ประจำปี 2560 ประเทศไทยได้ 37 คะแนนจากเต็ม 100 อยู่อันดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ ดีขึ้นกว่าปีก่อนมา 2 คะแนน แต่ยังห่างชั้นหากเทียบกับปี 2558 ที่อยู่ในอันดับ 76 นั่นเป็นแค่ตัวชี้วัดหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญเวลานี้ในภาวะที่ประเทศกำลังจะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ ส่วนต่างที่ถูกเรียกกันติดปากว่า “เงินทอน” ยังคงมีอยู่ แม้จะเป็นยุคของรัฐบาลคนดีไม่มีใครเทียบก็ตาม
มีการสร้างวาทกรรมหรือปฏิบัติการข่าวสารเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อว่า ผู้มีอำนาจปัจจุบันไม่มีคำว่าโกง ไร้การทุจริต แต่ความเป็นจริงหากเลือกจิ้มเฉพาะตัวบุคคลอาจกล่าวได้เช่นนั้น ทว่าในองคาพยพแห่งอำนาจ ย่อมมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับว่า ผู้กุมอำนาจจะจัดการเด็ดขาดหรือหลิ่วตาข้างหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์ที่เห็นกันอยู่มันจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า อันถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่กำลังดำเนินไป อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด มองอย่างเข้าใจว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดเนื่องจากขณะนี้เราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนแอ สิทธิเสรีภาพทางวิชาการและสื่อมวลชนมีข้อจำกัด อันเป็นช่องทางอันโอชะของพวกขี้ฉ้อทั้งหลายแหล่
มุมที่อนุสรณ์เห็นว่าสถานการณ์คอร์รัปชันจะดีขึ้น ก็ต่อเมื่อการเมืองเป็นระบบเปิดมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนมีมากขึ้น ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็งขึ้น การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่มีการซื้อเสียงน้อยลง ระบบอุปถัมภ์ผ่อนคลายลง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การทำให้ปัญหาการทุจริตลดลง
สิ่งที่มีการเสนอตามมาคือ 3 แนวทางและหลักการ 8 ประการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ไม่รู้ว่าภายใต้คณะรัฐประหารและรัฐบาลที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อการปฏิรูปจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เพราะ 3 แนวทางนั้นประกอบไปด้วย กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐ คืนสิทธิเสรีภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน
แนวทางต่อมาคือ การปฏิรูประบบและกลไกในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและบริหารประเทศอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะคณะกรรมการป.ป.ช.จะต้องเป็นอิสระ เป็นกลางและเที่ยงธรรม และแนวทางสุดท้าย การพัฒนาดัชนีธรรมาภิบาลเพื่อใช้กำกับดูแลการบริหารจัดการประเทศใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นที่ มีดัชนีธรรมาภิบาลระดับจังหวัด ระดับหน่วยงาน และระดับโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้
แนวทางที่ว่ามาแค่แนวทางแรกก็น่าจะสะดุดแล้ว เพราะการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยถ้าหมายถึงในรูปแบบสากลคงเป็นไปได้ยาก รวมไปถึงการคืนสิทธิเสรีภาพและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม นอกเหนือจากจะไม่เห็นแล้ว ยังมีการดิสเครดิตกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยากเลือกตั้งทุกทาง ส่วนการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมนั้นน่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลเผด็จการจะปฏิเสธ
ขณะที่หลักการ 8 ข้อที่ยกมาเพียงบางส่วน ก็น่าจะมองเห็นทิศทางกันแล้วว่าเดินกันไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นหลักการการเปิดเสรีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ การเปิดเสรีทางการเมืองและเศรษฐกิจ การผ่อนคลายกฎระเบียบจะลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ปิดช่องทางการทำทุจริตเรียกรับผลประโยชน์และติดสินบน
หลักการการมีส่วนร่วม ที่ต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชน ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในนโยบายและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง หลักการนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก หากมองไปยังสิ่งที่คณะผู้บริหารชุดนี้เข้ามา จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า กระบวนการร่วมคิดและร่วมรับผลประโยชน์นั้นตกอยู่ที่ใคร พวกไหน
เช่นเดียวกับหลักการที่ว่าด้วยหลักนิติธรรม กรอบกฎหมายต้องยุติธรรม พยากรณ์ได้ มีความต่อเนื่อง ไม่เลือกปฏิบัติ บังคับใช้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน คงไม่ต้องอธิบายว่าสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตต่อเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และไม่ต้องพูดถึงหลักการความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารพื้นฐานที่จำเป็นเบื้องต้นในการป้องกันการทุจริต ความโปร่งใสการตัดสินใจและกระบวนการการตัดสินใจ การจัดสรรงบประมาณอย่างเปิดเผยตรวจสอบได้
ไม่ใช่คนเดียวและครั้งแรกที่มีข้อเสนอในลักษณะที่อนุสรณ์ชี้ทางสว่าง หากแต่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องซึ่งสิ่งที่เห็นกันจนชินตาคือ รับฟังแต่ไม่ปฏิบัติตาม เนื่องจากทุกอย่างได้มีการวางแผนกันไว้หมดแล้วนับตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ดังนั้น สิ่งที่ทำกันได้เพียงอย่างเดียวคือ ติดตามดูว่าเขาจะเดินกันไปสุดทาง สุดโต่งแบบไหน โดยเฉพาะกับการดำเนินการต่อผู้เห็นต่าง
ต้องไม่ลืมว่า ที่ท่านผู้นำพูดถึงกฎหมายนั้นส่วนใหญ่มันไปผูกกับอำนาจอันเป็นคำสั่งของคณะเผด็จการที่ชื่อว่าคสช.และหัวหน้าคสช. โดยเหตุนี้ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเรียกร้องว่า อย่าให้คำสั่งคสช.ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ โดยมองไปยังการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่อยากเลือกตั้ง
การที่ประชาชนอยากเลือกตั้งจะแสดงออกเพื่อทวงสัญญาการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตรงกันข้าม เขาอยากให้รัฐไทยมีความมั่นคงในสายตาของนานาประเทศ ในความหมายที่ว่า ยังมีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่รับปากใครแล้วเชื่อไม่ได้ วิญญูชนผู้มีเหตุผล คงตัดสินได้ไม่ยากว่า การรณรงค์อยากให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญหรือไม่ การยืนชูป้ายอยากเลือกตั้งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่ การเรียกร้องให้เลือกตั้ง จะเป็นการก่อความไม่สงบหรือไม่
เมื่อการเรียกร้องการเลือกตั้ง ไม่เข้าข่ายหรือใกล้เคียงที่จะเข้าข่ายกับความผิดมาตรา 116 ก็ไม่ควรจะมีการตั้งข้อหาตั้งแต่ต้น คงมีแต่ผู้ที่เคยชินกับการเข้ามามีอำนาจด้วยการใช้รถถังเท่านั้น ที่เมื่อได้ยินคำว่าอยากเลือกตั้ง แล้วบอกว่าเป็นการใช้กำลังข่มขืนใจ ประทุษร้าย สังคมไม่ควรยอมให้คสช.เข้าใจผิดทึกทักว่า ความมั่นคงของรัฐบาลคสช.เท่ากับความมั่นคงของรัฐ แต่ปัญหาใหญ่ก็คือเสียงของประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มใดคงไม่มีความหมาย ในเมื่อผู้มีอำนาจยืนกระต่ายขาเดียวทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่ฉันคิดและฉันเชื่อเท่านั้น