“เงินเฟ้อ” กลับมา  แต่ไม่น่ากลัว

แล้วในที่สุด พาณิชย์เผยส่งออกเดือนมกราคม มีมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.6% ดีที่สุดในรอบ 62 เดือน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.3% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 119.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลการค้า 2 เดือนติดต่อกัน


รายงานพิเศษ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการค้นหาสัญญาณเงินเฟ้อ แต่เดือนแล้วเดือนเล่า ดูเหมือนว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อังกฤษ และในยูโรโซนก็ยังสงบเงียบ และเพิ่งจะเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ตัวเลขเงินเฟ้อหลักในสหรัฐฯได้สูงขึ้นไปสู่เป้าหมาย 2% ที่เฟดตั้งไว้  และเค้าลางที่เงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นนี้เองที่เป็นชนวนให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนักในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558  ดอกเบี้ยมาตรฐานของสหรัฐฯขณะนี้อยู่ที่ 1.5% และเนื่องจากมีแนวโน้มว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้  ดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มขึ้นไปถึง 2.5%  อย่างไรก็ดี เฟดได้พร่ำบอกว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาว ซึ่งหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวในก่อนหน้านี้มาก

แม้ว่าธนาคารกลางอังกฤษออกมาเตือนว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงมากกว่าที่คิด แต่ก็ได้ส่งสารกับตลาดว่าอย่าตื่นตระหนก  เงินเฟ้อเพิ่งเริ่มตื่น ดอกเบี้ยจะต้องสูงขึ้น

ความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เมื่อกระทรวงแรงงานรายงานว่าค่าแรงโตในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 9 ปี  ดาวโจนส์ปรับตัวลง 1,000 จุด สองครั้งในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

วอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากปรับตัวลงเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2551   ดาวโจนส์กลับมาเป็นบวกในปีนี้อีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา และกลับมายืนเหนือระดับ 25,000 จุดได้ นั่นแสดงว่านักลงทุนกำลังปรับตัวอย่างช้าๆ ต่อความผันผวนที่เพิ่มมากขึ้น  ผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นและสัญญาณที่เงินเฟ้อสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ลอยด์ แบลงค์ไฟน์ ซีอีโอ โกลด์แมน แซคส์ กลัวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังโยนไฟแช็กเข้าไปในเศรษฐกิจที่ร้อนแรงอยู่แล้ว การใช้จ่ายอย่างเมามันของรัฐบาลวอชิงตัน  ด้วยการลดภาษี 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และใช้จ่ายพิเศษอีก 300,000 ล้านดอลลาร์ อาจมากเกินกว่าที่จะเป็นเรื่องที่ดี

แม้เงินเฟ้ออาจจะทำให้ตลาดแกว่งตัวแทบจะทุกวัน แต่นักวิเคราะห์มองว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่เชื่อมั่นต่อหุ้น

รีเบคกา แพทเตอร์สัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทเบสเซเมอร์ ทรัสต์ เชื่อว่า  นอกจากปัจจัยพื้นฐานจะสนับสนุนการเติบโตแล้ว การปรับฐานในเดือนนี้ ได้ขจัดความรู้สึกสบายใจของนักลงทุนในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ต่อหุ้น

แพทเตอร์สัน กล่าวว่า การปรับตัวลงของหุ้น 10 % หรือ 11% เป็นปกติแม้แต่ในปีที่หุ้นปรับตัวขึ้น ในขณะนี้เธอเชื่อว่าการประเมินมูลค่าในตลาดในขณะนี้ได้คำนึงถึงการขึ้นดอกเบี้ยสามครั้งของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้แล้วและดูเหมือนว่าจนถึงขณะนี้ตลาดหุ้นไม่เป็นไรมาก

แพทเตอร์สันยังกล่าวว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจะค่อยๆ สูงขึ้น และเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งเพียงพอที่จะโตต่อไปได้  ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล นอกเสียจากมีสัญญาณมากขึ้นว่าเศรษฐกิจซบเซาในขณะที่มีเงินเฟ้อ เพราะนั่นเป็นภาวะ stagflationary ที่น่ากลัว

ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อกลับมาเข้มขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่ข้อมูลรัฐบาลสหรัฐฯชี้ว่า ราคาผู้บริโภคแข็งแกร่งและค่าแรงพุ่งขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เกิดภาวะถดถอยครั้งใหญ่  ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่มีอายุไถ่ถอน 10 ปี ใกล้ 3% รอมร่อ             แม้เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้ความผันผวนกลับมา หลังจากที่สงบเงียบอย่างผิดปกติในปี 2560  แต่แพทเตอร์สันเชื่อว่าเฟดคงจะโล่งใจที่อย่างน้อยได้เห็นว่าหุ้นมีความผันผวนเล็กน้อย

ลอเรตต้า เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐคลิฟแลนด์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ ก็กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า แรงเทขายหุ้นเมื่อเร็วๆ นี้และความผันผวนที่เพิ่มขึ้น จะไม่สร้างความเสียหายให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งโดยรวม 

 

Back to top button