พรมแดนที่เลอะเลือน
โลกต้องตั้งคำถามอีกครั้งเมื่อ ยักษ์ใหญ่รถยนต์เยอรมนีอย่าง Daimler AG บริษัทแม่ของแบรนด์รถยนต์ชื่อดังแถวหน้าของโลก Mercedes-Benz มีผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งชื่อ จี๋ลี่ (Geely) ค่ายผลิตรถยนต์อิสระชั้นนำจากเมืองหางโจว ของจีน เจ้าของแบรนด์รถยนต์ตลาดล่าง Cherry ได้ใช้เงินกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 285,000 ล้านบาท) เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 9.69 ของเดมเลอร์ (Daimler)
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
โลกต้องตั้งคำถามอีกครั้งเมื่อ ยักษ์ใหญ่รถยนต์เยอรมนีอย่าง Daimler AG บริษัทแม่ของแบรนด์รถยนต์ชื่อดังแถวหน้าของโลก Mercedes-Benz มีผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งชื่อ จี๋ลี่ (Geely) ค่ายผลิตรถยนต์อิสระชั้นนำจากเมืองหางโจว ของจีน เจ้าของแบรนด์รถยนต์ตลาดล่าง Cherry ได้ใช้เงินกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 285,000 ล้านบาท) เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 9.69 ของเดมเลอร์ (Daimler)
ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์นี้ จี๋ลี่ เคยสร้างปรากฏการณ์โด่งดังมาแล้วในหลายปีก่อน ที่เข้าซื้อกิจการของวอลโว่ รถยนต์แบรนด์สวีเดนใน ค.ศ. 2010 ต่อจากฟอร์ด มอเตอร์ ที่ขายทิ้งออกมาเพราะมีปัญหาการเงิน ด้วยการทุ่มเงินกว่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 59,000 ล้านบาท และชุบชีวิตให้บริษัทรถยนต์สัญชาติสวีดิชกลับมามีชีวิตชีวา และต่อมาก็ทุ่มเงินเข้าซื้อกิจการของบริษัท ลอนดอน แท็กซี่ คอมพานี ทั้งหมด
การเข้าถือหุ้นในเดมเลอร์นี้ อาจจะจุดกระแส Sinophobia หรือ กระแสกลัวจีน ให้ลุกโชนขึ้นในยุโรปอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดกระแสกลัวญี่ปุ่นในอดีตเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน
คณะกรรมการของรัฐสภาเยอรมนีถึงกับต้องเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามว่า “จี๋ลี่” ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ หรือใช้ช่องโหว่ในกฎหมายตลาดหลักทรัพย์เพื่อเข้าถือหุ้นในเดมเลอร์หรือไม่ คำตอบที่ได้รับคือไม่มีอะไรที่ละเมิดกฎหมายเลย เป็นไปตามครรลองทุกอย่าง
ทางด้าน จี๋ลี่ ก็ประกาศเจตนาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า การทุ่มเงิน(ซึ่งมีคำถามว่า แหล่งเงินมาจากไหนสำหรับดีลนี้) มหาศาล เป็นการ “เดิมพันกับอนาคต” เพื่อต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (Electric and Autonomous vehicles technology-EAVtech) ของเมอร์เซเดส เบนซ์
มองย้อนกลับไป “จี๋ลี่” ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบริษัทที่มีเงินสด แต่ด้อยทางเทคโนโลยี ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอนาคตที่กำลังเติบโตด้วยทางลัดผ่านวิศวกรรมการเงิน M&A ในการแสดงอย่างเปิดเผยถึงการเข้าซื้อหุ้นเดมเลอร์หลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงมูลค่ากว่า 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก แต่ก็ถูกปฏิเสธ และเมื่อยื่นข้อเสนอครั้งที่สอง ก็ถูกปฏิเสธอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ จนสุดท้ายประสบความสำเร็จจากการเข้าซื้อหุ้นในตลาดโดยตรงจากกองทุนอื่นๆ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพียงแต่ใช้ต้นทุนเยอะกว่าปกติกว่าเท่าตัว
มีข้อมูลเปิดเผยต่อมาว่า เบื้องหลังดีลที่ลุล่วงได้นี้ เกิดจากฝีมือของอดีตซีอีโอชาวเยอรมันของ Morgan Stanley ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของประธานของบริษัท Zhejiang Geely Holding Group ที่เป็นโฮลดิ้งของกลุ่มนี้อยู่
ตำนานของบริษัทผลิตรถยนต์มอเตอร์ไซค์เล็กๆ ในจีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยผู้ก่อตั้งคือ หลี่ ซู ฝู ประธานกลุ่ม ปัจจุบันอยู่ในวัยแค่ 54 ปี ที่เข้ามาสร้างโมเมนตัมใหม่ในวงการรถยนต์แห่งโลก ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะดีลซื้อกิจการที่บรรลุนี้ ยังไม่ได้บอกว่าจะสามารถทำให้เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจเหนือกิจการรถยนต์เยอรมนีได้ หรือจะไม่เผชิญกับปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะตามมา อันเคยเกิดขึ้นกับหลายแห่งมาแล้ว
ในเบื้องต้น รัฐบาลเยอรมนี ออกมาประกาศให้ไฟเขียวดีลที่เกิดขึ้นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องออกระเบียบในการแข่งขันหรือระเบียบการลงทุนของต่างชาติ
ตัวของหลี่ ซู ฝู ก็บอกว่าแม้เขาจะทำตัวเป็น “ผู้รุกรานจากภายนอก” ภาครถยนต์ แต่ก็ให้มีมุมมองอย่างสร้างสรรค์มากกว่า เพราะการซื้อกิจการนี้ ไม่เอามาหากำไรตัดแบ่งขายอย่างเดียวแบบนักการเงินกระทำ แต่เป็นการประเมินแล้วว่า ในยุคนี้มีความจำเป็นของบริษัทรถค่ายต่างๆ ในการปรับตัวร่วมมือกันโดยผ่านการเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตร เพื่อรับมือกับการแข่งขันมากขึ้นจากบริษัทใหม่ๆ ที่มาจากภาคเทคโนโลยี เช่น เทสลา และเวย์โมในเครือกูเกิ้ล
เหตุผลเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ ฟังแล้วดูดี และน่าชื่นชมมากกว่าต่อต้าน เพราะอิงบนฐานข้อเท็จจริงที่ยากปฏิเสธได้
หากดีลของ จี๋ลี่ ที่ทำกับเดมเลอร์ มีเป้าหมายตามคำกล่าวของผ้็ก่อตั้งจริง โลกอาจจะได้เห็นการสังเคราะห์ใหม่ของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพียงแต่นั่นอาจจะเป็นการมองโลกสวยเกินจริงได้เช่นกัน
เอาเป็นว่ายามนี้และอนาคตอันใกล้ กระแสลมบูรพากำลังพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ปฏิเสธได้ยาก ซึ่งคนที่ไม่ชอบใจก็คงหนีไม่พ้นอเมริกันตามเคย