พาราสาวะถี
วันนี้ตามลุ้นกันว่าที่ประชุมสนช.จะลงมติออกมาอย่างไรต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พิจารณาจากแนวโน้มแล้วคงยกมือผ่านกันฉลุย โดยเฉพาะร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ที่มีเงื่อนไขการบังคับใช้ล่าช้าออกไป 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อรชุน
วันนี้ตามลุ้นกันว่าที่ประชุมสนช.จะลงมติออกมาอย่างไรต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. พิจารณาจากแนวโน้มแล้วคงยกมือผ่านกันฉลุย โดยเฉพาะร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.ที่มีเงื่อนไขการบังคับใช้ล่าช้าออกไป 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่ร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. หากพิจารณาจากบทสัมภาษณ์ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่มาของส.ว.ที่ถูกสนช.ปรับแก้เหลือแค่ 2 ประเภท เกรงว่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตเพราะประธานกรธ.ลงทุนท้วงติงถึงขนาดนี้ น่าจะมีการเลือกใช้วิธีส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นการเพลย์เซฟที่ดีที่สุด
หากเป็นไปในแนวทางนี้ก็จะสอดคล้องกับ วิษณุ เครืองาม ที่ออกมายืนยันเรื่องรัฐบาลไม่มีนโยบายในการคว่ำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยชี้ช่องทางว่าหากกรรมาธิการเสียงข้างน้อยไม่พอใจหรือติดใจในประเด็นใด ควรใช้ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สองเนติบริกรเปิดหน้าชี้แนะกันแบบโต้งๆ จึงไม่น่าจะเป็นเพียงแค่ความเห็นเท่านั้น แต่มันเหมือนการบอกให้ปฏิบัติดีๆ นี่เอง
หลายคนอาจมองว่านี่เป็นการใช้ “แท็กติก” ทางกฎหมายเพื่อประวิงเวลาในการที่จะผ่านร่างกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ อันจะเป็นการเร่งรัดให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปที่ท่านผู้นำประกาศไว้หรืออาจจะทำให้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ครองอำนาจไม่พึงปรารถนา จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่มีรัฐบาลคสช. ก็จะใช้วิธีการพลิกแพลง เลี่ยงบาลีเช่นนี้อยู่เรื่อยมา
ทั้งๆ ที่หากมองในแง่ของความได้เปรียบหากจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจถือไพ่เหนือกว่าทุกประตู แต่เมื่อเป็นการเลือกตั้ง พิจารณาย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารของคมช. บทเรียนมีให้เห็น เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในยุคของรัฐบาลเทพประทานที่เวลานั้นมั่นใจสุดๆ ว่าจะสามารถนำพาตัวเองกลับมาสู่อำนาจได้อย่างสง่างาม ปรากฏว่าต้องพบกับความพ่ายแพ้แบบหมดรูป
นั่นเป็นเพราะผลงานระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ประชาชนยุคปัจจุบันสัมผัสและรับรู้ได้ ยุคของรัฐบาลคสช.ก็เช่นกัน แม้ตัวท่านผู้นำและทีมกระบอกเสียงจะพากันเที่ยวโพนทะนาว่ามีผลงานอย่างโน้นอย่างนี้ ทว่าความเป็นจริงเมื่อไปสอบถามกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ การส่ายหน้าเป็นคำตอบที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย
อีกประการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดรับรู้ความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดีคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ มีแต่คนยกยอปอปั้นและพร้อมที่จะสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกสมัย เสียงดีขนาดนี้ทำไมจึงไม่รีบเลือกตั้ง ผลโพลของหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ว่าเสียงดีแต่ไม่มีคะแนนเป็นคำตอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม บิ๊กตู่ดูเหมือนว่าไม่ได้แสดงอาการถอดใจ จับอาการได้จากการให้สัมภาษณ์ที่เพชรบุรี ยินดีที่พรรคการเมืองต่างๆ สนับสนุน แต่ยังไม่รู้จะเลือกอยู่กับใครขอดูนโยบายก่อน การไม่ปฏิเสธจึงเป็นการยืนยันประเด็นการสืบทอดอำนาจได้เป็นอย่างดี ที่เหลือคือวิธีการที่จะกลับเข้าสู่อำนาจ มีเพียงแค่ยอมรับเป็น 1 ใน 3 ผู้ถูกเสนอชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือจะเป็นคนนอกที่ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมรัฐสภา
แนวโน้มคงไม่ต้องพูดถึงต้องเป็นอย่างหลังแน่นอน เพราะเมื่อมองไปยังพรรคที่จะมาเป็นฐานค้ำยัน จากที่ว่าแน่ๆ อย่างมวลมหาประชาชนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ วันนี้ชักจะไม่แน่เสียแล้ว เรื่องกระสุนดินดำไร้ปัญหา ที่ใหญ่กว่าคือผู้เข้าร่วมระดับแกนนำ จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะมีคนของพรรคเก่าตัวเองอย่างประชาธิปัตย์ยอมทิ้งฐานที่มั่นมาร่วมทางเดินด้วยกัน
พอตรวจสอบแนวรบล่าสุดกลับพบว่าคนที่เคยตกปากรับคำกันไว้หรือแสดงท่าทีว่าอยากจะมาร่วมวงไพบูลย์ ดันเปลี่ยนใจเอาดื้อๆ ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า หลังจากไปวัดกระแสในพื้นที่ฐานเสียงของตัวเองมาแล้ว ประชาชนส่งซิกกันมาหนาแน่น ถ้าแปรพักตร์สอบตกชัวร์ๆ นิสัยของนักเลือกตั้งก็รู้กันอยู่แล้วว่า ไม่อยากได้ชื่อเป็นส.ส.สอบตก ดังนั้น จึงต้องเลือกที่มั่นใจสุดๆ เอาไว้ก่อน
ที่ทำให้เทพเทือกเจ็บช้ำใจเป็นที่สุดคงหนีไม่พ้นคนใกล้ชิด ที่คิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องมาร่วมหอลงโรงกันแน่ๆ แต่สุดท้ายก็หัวหดเปิดตูดกลับบ้านหลังเดิมไปเสียฉิบ อย่างไรก็ดี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงบอก พรรคของสุเทพเกิดแน่ เพียงแต่ที่ผ่านมาเกิดการผิดคิวเพราะ ธานี เทือกสุบรรณ น้องชายลุงกำนันดันทำปืนลั่น ไปตอบคำถามสื่อมวลชนว่าพี่ชายจะตั้งพรรค
ทั้งที่ความตั้งใจเดิมอยากให้เป็นภาพว่ามาจากความคิดของประชาชนที่เป็นแนวร่วม ตรงนี้ยืนยันได้จากบทสัมภาษณ์ของเทพเทือกที่อ้างถึงประชาชนผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่เคยเป็นอดีตกปปส.หากไปตั้งพรรคแล้วตัวเองเห็นว่ามีแนวทางและนโยบายที่เข้ากันได้ก็จะพิจารณาไปร่วม แต่น้องชายดันมาทำเสียแผนเสียก่อน แต่มาถึงขั้นนี้ไม่มีอะไรต้องเหนียมกันอีกแล้ว เพราะประชาชนรู้ทันทุกเม็ดทุกดอก
จะว่าไปจังหวะที่สุเทพยังงงกับตัวเอง ใช่ว่าประชาธิปัตย์จะดี๊ด๊าดีใจที่สามารถรักษาบรรดาอดีตส.ส.ของตัวเองไว้ได้ เนื่องจากการประเมินล่าสุดด้วยการไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการโบกมือดักกวักมือเรียกเผด็จการคสช. บวกกับมาตรการที่มีการดำเนินการของรัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ว่ากันว่า มีผลกระทบมาถึงคะแนนเสียงของพรรคเก่าแก่โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้เกมการแยกกันเดินและจะวกกลับมาจูบปากอีกครั้งหลังเลือกตั้งจึงไม่ใช่งานง่าย รู้ทั้งรู้ว่าเพื่อไทยต้องไปนั่งเป็นฝ่ายค้านในสภาแน่ แต่พรรคของตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะได้ส.ส.กลับมากี่มากน้อย ในภาวะที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นราวดอกเห็ด ยังไม่นับรวมพรรคจอมเสียบทั้งหลายที่ยังคงอยู่กันอย่างเหนียวแน่น ทำไปทำมากลายเป็นว่าจากที่หวังจะกระโดดเกาะขบวนสืบทอดอำนาจได้อย่างสบายใจเฉิบ มาวันนี้ชักจะไม่แน่เสียแล้ว บางทีอาจจะกลายเป็นถูกถีบหัวส่งให้มาเป็นฝ่ายค้านร่วมกับคู่แค้นอย่างเพื่อไทยก็เป็นได้