ปรับพอร์ตพลวัต2015
การเป็นนักลงทุนตลาดหุ้นไทยยามนี้ ถือเป็นวิบากกรรม ที่เลี่ยงไม่พ้นเพราะสัญญาณต่างๆ ยังสับสนหาทิศทางไม่ได้
การเป็นนักลงทุนตลาดหุ้นไทยยามนี้ ถือเป็นวิบากกรรม ที่เลี่ยงไม่พ้นเพราะสัญญาณต่างๆ ยังสับสนหาทิศทางไม่ได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงซื้อกลับของต่างชาติ ตั้งแต่กลางสัปดาห์ น่าจะดันดัชนีข้ามแนวต้านไปยืนเหนือ 1,530 จุด ได้แข็งแกร่ง แต่ยังทำไม่ได้ดีทั้งที่มูลค่าซื้อขายรายวันกลับมาคึกคักอีกครั้งมากกว่าวันละ 40,000 ล้านบาท
คำพูดของผู้ว่าเฟดวันพฤหัสบดี เรื่องโอกาสขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู้เงินเฟ้อและข่าวลือร้ายเรื่องกระทรวงคลังไทยกระเป๋าฉีกต้องขายหุ้นรัฐวิสาหกิจทิ้งแม้ยังไม่เกิดขึ้นจริงหรือไม่มีโอกาสเลยก็ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนมากทีเดียว
ความไหวหวั่นของตลาดเป็นเรื่องเปราะบางอย่างมาก บางทีมากเกินเหตุ จนไม่สมเหตุสมผล แต่มีผลต่อการได้เสียของการลงทุน
ในทางปฏิบัติเฟดคงจะไม่ชอบให้ขึ้นดอกเบี้ยตราบใดที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเปราะบาง โดยเฉพาะเรื่องขาดดุลการค้าที่เรื้อรัง แต่แรงกดดันของการว่างงาน และกำลังซื้อที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อทำให้ทางเลือกคงดอกเบี้ยอัตราต่ำกว่า 0.5% เพราะอาจจะทำให้เกิดฟองสบู่ได้ไม่ยาก
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลเสียต่อสหรัฐ เพราะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ยามนี้แกว่งตัวแข็งเทียบเงินสกุลหลักของโลกสูงสุดรอบ 12 ปี เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของนักการเงินที่จะมองข้ามไม่ได้ แข็งค่ามากขึ้นไปอีก และมีผลลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐโดยตรง แต่มีผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ จากการไหลกลับของดอลลาร์ ซึ่งเคยเกิดภาวะเชิงลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เมื่อปี 2556 แต่ปีนี้นักวิเคราะห์มองว่าความรุนแรง น่าจะเบาลงเพราะมีตัวแปรอื่นเข้ามาแทรกและประคองตลาดหุ้นเอาไว้ โดยเฉพาะความรุนแรงไม่น่าจะเกิดเพราะมีมาตรการพิมพ์ธนบัตรมาใช้ทั่วโลกผ่านมาตรการ QE ของยุโรป และญี่ปุ่นมหาศาล
มุมมองของเฟดและผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรในสหรัฐเหมือนกัน คือ เห็นว่าค่าดอลลาร์แข็งเกินไปแต่ต่างกันที่ว่าเฟดมองว่าดัชนีตลาดหุ้นสูงเกินไปเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะดัชนีวิ่งแรงกว่าอัตราเติบโตของกำไรกิจการบริษัทจดทะเบียน
ที่ร้ายกว่านั้น อัตราเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐช้ากว่าอัตราของยูโรโซน สัญญาณดังกล่าวสะท้อนว่า หากปล่อยเอาไว้ให้ดัชนีตลาดหุ้นร้อนแรงเกินไป อันตรายจะเกิดได้ง่ายกับตลาดแรงงาน ทำนองเดียวกับวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 7 ปีก่อน
อีกด้านของเหรียญ ตลาดหุ้นไทยในหลายเดือนนี้ถูกบรรยากาศของอารมณ์ขาลงทำลายไปมากหุ้นใหม่พากันหลุดจองหรือเกือบหลุดมีให้เห็นถี่ชุกขึ้นชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนมีจิตพิสัยแบบ “มีทองเท่าหนวดกุ้ง สะดุ้งจนเรือนไหว” ค่อนข้างฉับไวต่อสถานการณ์นี้ทางลบเข้มข้นมากเป็นพิเศษ เมื่อมีข่าวลบจึงมักจะเชื่อไว้ก่อนตามสูตรกำไรหรือขาดทุนน้อยดีกว่าติดหุ้น
คำถามว่าตลาดจะพักฐาน หรือปรับฐาน ถือเป็นสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยที่นักลงทุนค้นคว้ามากเป็นพิเศษ เพราะมองเห็นชัดว่าตลาดหุ้นไทยมีฐานะเสมือนลูกแกะ ที่ตกอยู่ท่ามกลางผู้ยิ่งใหญ่ที่ห้อมล้อมรอบตัว ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางลบรุนแรงรอบด้านอยู่เดิม นับแต่เศรษฐกิจย่ำแย่เพราะมาตรการลงทุนภาครัฐไม่คืบหน้า กำลังซื้อในภาคเกษตรอ่อนแอ ภาคการส่งออกถดถอยหรือติดลบ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดถดถอยลง และฐานะทางการคลังของรัฐบาลเผด็จการ ที่ซ่อนปัญหาเอาไว้โดยไม่สามารถตรวจสอบได้
ประเด็นเรื่อง NPL ของธนาคารพาณิชย์ เป็นแค่ยอดของก้อนภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนปมปัญหาของภาคการผลิตและส่งออกอย่างที่ยากจะขุดค้นได้เหมือนช่วงเวลาของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ภาพรวมของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาส 2 ผู้บริหารแบงก์ชาติยังยอมรับว่า อาจเห็นทิศทาง NPL ที่อาจสูงขึ้นหรือไม่สามารถปรับลดลงจากระดับปัจจุบันได้ ด้วยคำอธิบายแบบปลอบโยนที่ไม่สมเหตุผลว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่น่าเป็นห่วงสินเชื่อธุรกิจ SME ขนาดเล็กและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
สำหรับนักลงทุนแล้ว ความคลุมเครือ คือ ความไม่แน่นอนเลวร้ายกว่าความเสี่ยง เพราะควบคุมอนาคตไม่ได้เลยคำถามเรื่องดัชนีจะ พักฐาน ปรับฐาน และพังพาบ จึงเป็นตัวสกัดกั้นสัญญาณขาขึ้นได้ง่ายมากจนถึงง่ายเกินจำเป็น
ดัชนีที่ต่ำกว่า 1,520 จุด อีกครั้งเมื่อวานนี้เป็นการเปิดสัปดาห์ที่ไม่สวยงามและส่งสัญญาณปรับฐานอาจลงไป 1,450 จุด ได้ง่ายมาก นักวิเคราะห์ที่ประเมินกันก่อนเปิดตลาดเช้าวานนี้ อาจหน้าแตกยับเยิน เพราะคาดแต่นักลงทุนที่ขาดทุนหรือติดหุ้นอีกครั้งคงต้องทบทวนตัวเองว่า จากนี้ไปจะปรับพอร์ตลงทุนของตนเองอย่างไร ถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อความผิดพลาดของนักวิเคราะห์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
หลายเดือนมานี้ ตลาดหุ้นไทยถือว่าทำกำไรระดับยากมาก แต่จากนี้ไปการขาดทุนจะเกิดขึ้นง่ายมากกว่าเดิมเป็นโจทย์ที่ต้องคิดล่วงหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
นักลงทุนคนไหน เป็นของจริง หรือของเก๊ วัดกันไม่ยากแล้วนับจากนี้