เขียนเสือให้วัวกลัว?
มีคำถามว่า การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมุ่งเป้าหมายที่จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 11 ให้สหรัฐฯ ที่เรียกเสียงประณามและเสียงขู่ตอบโต้จากนานาชาติมากมาย จะนำไปสู่สงครามการค้าหรือไม่
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
มีคำถามว่า การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมุ่งเป้าหมายที่จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 11 ให้สหรัฐฯ ที่เรียกเสียงประณามและเสียงขู่ตอบโต้จากนานาชาติมากมาย จะนำไปสู่สงครามการค้าหรือไม่
คำตอบ คือ จริงแท้แน่นอน แต่จะบานปลายไปเป็นสงครามเศรษฐกิจอื่นๆ หรือไม่ คำตอบต่อไป คือ ไม่ชัดเจน
หากว่าสงครามการค้าถูกจำกัดวง ไม่บานปลายเป็นสงครามการเงินที่จนถึงวันนี้ยังไม่ถึงกับชัดเจน ก็คงมั่นใจระดับหนึ่งว่าสงครามอาวุธไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
การที่ผู้นำอเมริกาอย่าง ทรัมป์ หรือ “ทรัมป์บ้า” ไม่ลังเลใจใดๆ เลยแม้แต่น้อย ในการเปิดฉากสงครามการค้าอย่างเป็นทางการ ชนิดถึงกับออกมาป่าวประกาศว่า “สงครามการค้าไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับสหรัฐฯ…แถมยังเอาชนะได้ง่าย” อีกต่างหาก สะท้อนว่ายังมีไพ่ในมือให้เล่นอีกหลายใบ
ในขณะที่ท่าทีอย่างเป็นทางการของจีนที่ประกาศความพร้อมต่อมาตรการการตอบโต้ต่อสหรัฐอเมริกา โดย นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเตือนรัฐบาลสหรัฐว่า การเลือกทำสงครามการค้าเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ เพราะสุดท้ายแล้วเป็นการทำร้ายผู้อื่นและตัวเอง ทางการจีนจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อต่อสหรัฐฯอย่างแน่นอน
ส่วนทางด้านองค์การการค้าโลก ชาติสมาชิก 18 ประเทศ พากันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐฯยุติการผลักดันการตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่จะส่งผลให้สินค้าประเภทดังกล่าวต้องโดนเก็บภาษีร้อยละ 25 และ 20 ตามลำดับ ก็ยังเห็นได้ว่าเป็นแค่มาตรการนามธรรมที่ยังต้องชั่งน้ำหนักอีกระยะหนึ่งว่า รูปธรรมของการตอบโต้ที่แท้จริงจะส่งผลให้สงครามการค้าบานปลายแค่ไหน
นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ของอังกฤษ ประเมินว่า แม้ทรัมป์จะไม่ใช่ผู้นำสหรัฐฯคนแรกที่นำเอามาตรการกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการฝ่ายเดียว และกรณีเหล็กกับอลูมิเนียมอาจจะไม่ใช่มาตรการรุนแรงสุดที่เคยใช้มา แต่ท่าทีของทรัมป์ในการปฏิเสธหลักการค้าเสรีมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ยอมรับหลักการพหุนิยมทางการค้า นอกจากจะเร่งให้สถานการณ์สงครามการค้าเลวร้ายลงแล้ว จะยิ่งบั่นทอนภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในโลกอย่างลงรากลึกกันเลยทีเดียว
ความเห็นดังกล่าวมีความหมายไม่ใช่น้อย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว สงครามการค้าในยุคของทรัมป์เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ที่เป็นข่าวคราวในช่วงหลังๆ เพราะ “นักรบทางการค้าของสหรัฐฯ” ได้เข้าประจำการกันอย่างคึกคักโครมครามกว่าปกติ และมีการถอนตัวของทีมงานที่เป็นสายกลางของทรัมป์มากขึ้น
ว่าไปแล้ว การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อเล่นงานคุณพี่จีนจนลุกลามไปโดนเกาหลีใต้แบบเน้นๆ เนื้อๆ เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม อาจถือเป็น “การประกาศสงครามการค้าอย่างเป็นทางการ” มาแล้ว แต่เนื่องจากเป้าหมายไม่ใช่จีนเท่านั้น เลยดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กลงไป ทั้งที่โดยสาระแล้วอาจจะไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
หากเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่า มาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐฯจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนในสายตาของชาวโลก น่าจะมีนัยสัมพันธ์กับชื่อของเหยื่อที่ถูกเล่นงานด้วยว่าเป็นใคร และมีปริมาณของผลกระทบว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนด้วย
ในกรณีเหล็กและอลูมิเนียม มาตรการของทรัมป์ที่ยกเว้นให้กับแคนาดา และเม็กซิโก น่าจะถือว่าเป็นมาตรการ “ปาหี่” มากกว่ามาตรการที่รุนแรงในแง่รูปธรรม เพราะขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน มีตัวเลขส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 11 มีปริมาณแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของจีนไปยังสหรัฐฯ ในแต่ละปี (ลูกค้าหลักของจีนในเรื่องเหล็ก อยู่แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าสหรัฐฯหลายเท่า)
หากเป็นเช่นว่าจริง มาตรการกีดกันทางการค้าของทรัมป์ที่ประกาศออกมาเป็นแค่ปาหี่การเมืองที่หลอกคนอเมริกัน มากกว่าหวังผลที่แท้จริง เป็นแค่การเขียนเสือให้วัวกลัวธรรมดา ไม่น่าจะทำให้สงครามการค้าบานปลายไปเป็นสงครามขยายวงถึงขั้นเป็นสงครามการเงิน หรือสงครามเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ
เช่นเดียวกัน การตอบโต้ด้วยวาจาที่ดูเข้มข้นของจีน ก็อาจจะไม่มีอะไรในกอไผ่มากกว่าแค่ส่งเสียงคำรามธรรมดา