ใต้หล้า สี จิ้นผิง

ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา สภาประชาชนจีนหรือรัฐสภาของจีนลงมติอนุมัติยอมรับข้อเสนอเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ด้วยผลโหวตสนับสนุน 2,958 เสียง คัดค้าน 2 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา สภาประชาชนจีนหรือรัฐสภาของจีนลงมติอนุมัติยอมรับข้อเสนอเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ด้วยผลโหวตสนับสนุน 2,958 เสียง คัดค้าน 2 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

มติดังกล่าวเท่ากับส่งผลให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศไปได้นานชั่วชีวิต

มติดังกล่าวมีปฏิกิริยาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การนำแบบรวมศูนย์​ (collective leadership) ที่ใช้กันมายาวนาน ในนามของ “ประชาธิปไตยรวมศูนย์​” ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่แข็งแรงเท่าใด จะถูกเร่งให้ตายสนิท นำไปสู่การสถาปนาการนำเดี่ยวที่น่ากลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยสมัยเหมา  และ “ฮ่องเต้” ในอดีต

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปูทางล่วงหน้า ในที่ประชุมสมัชชาพรรคเมื่อปลายปีก่อน ซึ่งมีชาวพรรคเข้าร่วมครั้งใหญ่ที่สุด และลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์บรรจุเอา “ความคิดสี จิ้นผิง” (Xi Jin ping Thought) เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญของพรรค ซึ่งเท่ากับละทิ้งแนวทางของเติ้งฯ และหวนกลับไปหาสมัยเหมากันอีกรอบ พร้อมเสนอยกเลิกบทบัญญัติเดิมในยุคของเติ้งฯ ที่กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัย สมัยละ 5 ปี ที่พยายามป้องกันความวุ่นวายแบบในสมัยของประธานเหมา เจ๋อตง และกลุ่ม 4 คนอีก

นั่นคือธงนำที่เคยชูว่า “ลัทธิ มากซ์-เลนิน แนวคิดเหมา เจ๋อตง แนวทางเติ้ง เสี่ยวผิง” แล้วใช้กันมายาวนานกว่า 30 ปี  ก็จะลดทอนเหลือเพียง “ลัทธิมากซ์-เลนิน แนวคิดสี จิ้นผิง”

แนวคิดสี จิ้นผิง มีว่า ในปี ค.ศ. 2049 อันเป็นปีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะดำรงอยู่ครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ เป้าหมายใหม่ เป็นการปรับเร่งจากเป้าหมายเดิมที่เคยกำหนดว่า ภายในปี ค.ศ. 2021 อันเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดีพอสมควร

เพื่อให้ภารกิจอันท้าทายบรรลุ ด้วยสิ่งที่ สี จิ้นผิง เรียกว่า “แนวคิดสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีนยุคใหม่” จึงต้องมีเข็มมุ่งมากถึง 14 แนวทาง เป็นการส่งข้อความอย่างทรงพลังไปถึงบรรดาผู้ปฏิบัติงานของพรรคและประเทศชาติโดยองค์รวมว่า เขาคือผู้นำสูงสุดในปัจจุบันอย่างไร้ข้อกังขาใดๆ และมิอาจละเมิดได้ได้แก่

  • ยืนหยัดการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในทุกมิติ
  • พรรคคอมมิวนิสต์ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
  • ยืนหยัดการปฏิรูปให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
  • ใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์
  • ยืนหยัดสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน ซึ่งมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ
  • ปกครองจีนด้วยการยึดมั่นในกฎหมาย
  • ปลูกฝังค่านิยม สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน
  • การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา
  • การพัฒนาต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการทหาร
  • กองทัพต้องอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน
  • ยืนหยัดแนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบบ และเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวันในอนาคต
  • รวมสร้างสังคมโลกที่สันติและมีจุดหมายร่วมกัน
  • บังคับใช้วินัยพรรคอย่างเคร่งครัด

การยกฐานะของสี จิ้นผิง เทียบเท่า เหมา เจ๋อตง ในการกำหนดทิศทางของประเทศ หากจะเพิ่มอีกสักนิดในเรื่องกำหนดระยะเวลาการอยู่ในตำแหน่งที่ไร้ข้อจำกัด สามารถมองได้ทั้งบวกและลบ

ในด้านลบ การยกเลิกกำหนดเวลาในอำนาจ ถือได้ว่า เป็นความถดถอยทางด้านการปกครอง เพราะย้อนกลับไปใช้ระบบผู้นำเดียว แทนที่ระบบการสืบทอดผู้นำและนำร่วม ที่ได้สถาปนาขึ้นในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เพื่อขจัดปัญหา “หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความปั่นป่วนวุ่นวาย” ที่เลวร้าย

ในด้านบวก หากเชื่อในการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดย PWC ที่ว่าปี ค.ศ. 2050 คือปีที่ขนาดของเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นเป็นที่หนึ่งของโลก ดังนั้นการระดมสรรพกำลังเพื่อไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำต้องเน้นการมุ่งรวมศูนย์ความเป็นเอกภาพของประเทศภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อต่อยอดยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่เน้นเรื่องการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อก้าวผงาดขึ้นมาในฐานะชาติที่มีพลังแข็งแกร่งแห่งชาติอันหลายหลาก, มีเกียรติภูมิระหว่างประเทศ, และมีอิทธิพลต่อชาวโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าหากอธิบายแนวคิดเชิงบวกจะเห็นได้ชัดทันทีว่าโลกทัศน์ และกระบวนทัศน์ของ สี จิ้นผิง ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นั่นคือการรื้อฟื้นโลกทัศน์ หรือกระบวนทัศน์เก่าแก่ของจักรวรรดิจีนยุคโบราณ แต่ครั้ง ฉิน สื่อหวง หรือ ฉิน ซี ฮ่องเต้ มาแล้ว คือ ว่าด้วย ใต้หล้า (เทียนเซี่ย) มาปรับใช้ร่วมสมัยนั่นเอง

คำอธิบายโลกทัศน์ หรือ กระบวนทัศน์ “ใต้หล้า” ระบุว่า บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อกระชับอำนาจทางการเมืองอันขรุขระ เหี้ยมโหด เข่นฆ่า และทำลายผู้บริสุทธิ์มากมาย ประหนึ่งผู้ที่เหี้ยมโหดและมักใหญ่ใฝ่สูง แท้ที่จริงแล้วเกิดจากเจตนาอันสูงส่ง เป็นความเสียสละของผู้นำ ยอมตนให้ถูกผู้คนเกลียดชังรอบทิศ เพื่อภารกิจสำคัญยิ่งที่มุ่งหวังให้คนส่วนใหญ่มีความสุขสันติ

ใต้หล้า ของสี จิ้นผิง แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากนี้ไป กับใต้หล้าของจักรพรรดิจีนยุคโบราณแบบขงจื้อ จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร น่าติดตามยิ่ง

Back to top button