สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 มี.ค. 61


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงหุ้นโบอิ้ง และหุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ยังคงปิดในแดนบวก โดยส่วนหนึ่งได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนยังคงขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,178.61 จุด ลดลง 157.13 จุด หรือ -0.62% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,783.02 จุด ลดลง 3.55 จุด หรือ -0.13% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,588.32 จุด เพิ่มขึ้น 27.51 จุด หรือ +0.36%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่ขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคของเยอรมนี

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.3% ปิดที่ 379.20 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,418.39 จุด เพิ่มขึ้น 71.71 จุด หรือ +0.58% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,276.71 จุด เพิ่มขึ้น 2.31 จุด หรือ +0.04% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,214.76 จุด ลดลง 9.75 จุด หรือ -0.13%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (17 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นติดต่อกัน 5 วันทำการก่อนหน้านี้ ขณะที่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของยุโรปยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,214.76 จุด ลดลง 9.75 จุด หรือ -0.13%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในเดือนเม.ย.

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 68 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 61.36 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 54 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 64.95 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมีสัญญาบ่งชี้ว่า ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศเริ่มคลี่คลายลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันนี้ เพื่อจับสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 3.2 ดอลลาร์ หรือ 0.24% ปิดที่ 1320.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 7.2 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 16.536 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.30 ดอลลาร์ หรือ 0.13% ปิดที่ 962.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 19.20 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 967.65 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเงินเฟ้อนั้น ขยายตัวน้อยกว่าการคาดการณ์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 106.37 เยน จากระดับ 106.79 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9466 ฟรังก์ จากระดับ 0.9510 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2336 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2313 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3906 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3848 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7877 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7847 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button