สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 มี.ค. 61
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หลังจากเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและจีน หลังจากสื่อรายงานว่า ปธน.ทรัมป์มีแผนที่จะออกมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน โดยพุ่งเป้าไปที่สินค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสาร
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,007.03 จุด ร่วงลง 171.58 จุด หรือ -0.68% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,765.31 จุด ลดลง 17.71 จุด หรือ -0.64% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,511.01 จุด ลดลง 77.31 จุด หรือ -1.02%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ได้ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทข้ามชาติ โดยทั้งสกุลเงินยูโรและปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1% ปิดที่ 375.47 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ปีนี้
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,221.03 จุด ลดลง 197.36 จุด หรือ -1.59% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,242.79 จุด ลดลง 33.92 จุด หรือ -0.64% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,138.78 จุด ลดลง 75.98 จุด หรือ -1.05%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งการแข็งค่าของเงินปอนด์ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทข้ามชาติ
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,138.78 จุด ลดลง 75.98 จุด หรือ -1.05%
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งได้ลดแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หลังจากเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2397 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2336 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3977 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3906 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7867 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7877 ดอลลาร์
หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 106.64 เยน จากระดับ 106.37 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9439 ฟรังก์ จากระดับ 0.9466 ฟรังก์
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณที่ไม่แน่นอน จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 6.3 ดอลลาร์ หรือ 0.48% ปิดที่ 1327.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 9.1 เซนต์ หรือ 0.55% ปิดที่ 16.627 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 4.40 ดอลลาร์ หรือ 0.46% ปิดที่ 967.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 23.95 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 991.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ EIA จะเปิดเผยรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ในวันนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 65 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 60.71 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 31 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 64.64 ดอลลาร์/บาร์เรล