พ.ร.ก.คุมเงินดิจิตอลคืบหน้า ครม.ไฟเขียวร่างกม. ลุ้นประกาศความชัดเจนสัปดาห์หน้า
พ.ร.ก.คุมเงินดิจิตอลคืบหน้า ครม.ไฟเขียวร่างกม. คาดสรุปความชัดเจนอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการจัดทำร่าง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัลเริ่มมีการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยและสถาบันอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ออก พ.ร.ก. เข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยการกำหนดให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาดทั้งศูนย์กลางการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โบรกเกอร์ หรือตัวแทนจำหน่าย ดีลเลอร์ ต้องมาลงทะเบียนกับส่วนราชการเพื่อให้อยู่ในการกำกับดูแล สำหรับสกุลเงินดิจิทัล หากมีการซื้อขายแล้วมีกำไร ต้องประเมินสินทรัพย์ตีมูลค่าภาษีกับกรมสรรพากร
ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลบางประเภท เช่น โทเคน มีลักษณะเหมือนกับหุ้น มีทั้งกำไรส่วนต่างจากการซื้อขาย และการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ลงทุน ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของเงินปันผลด้วยอีกทางหนึ่ง ให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนในหุ้น สำหรับรายละเอียดทั้งหมดต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อนำกลับเสนอ ครม. พิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์ข้างหน้า
ด้าน นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการยกร่าง พ.ร.ก. กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลว่า การออก พ.ร.ก. ดังกล่าวเพื่อให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลเห็นด้วยว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง โดยเฉพาะหากคนที่ไม่สุจริตนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในทางที่ผิด อาจจะเกิดปัญหา
ดังนั้น จึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลโดยเฉพาะ ป้องกันคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลดีพอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และเกิดความเสียหาย ส่วนคนที่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลก็สามารถลงทุนได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ตลท. จะทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพราะมี บจ. เริ่มระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล (ICO)
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก. กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยสาระสำคัญจะกำหนดแนวทางการกำกับดูแล และการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย