สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวันศุกร์
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 มี.ค. 61
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ที่ขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในสหรัฐและผลกระทบของสงครามการค้า ยังคงสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,946.51 จุด เพิ่มขึ้น 72.85 จุด หรือ +0.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,752.01 จุด เพิ่มขึ้น 4.68 จุด หรือ +0.17% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,481.99 จุด เพิ่มขึ้น 0.25 จุด หรือ +0.00%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ดีดตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสูดในรอบ 14 ปี
ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.2% ปิดที่ 377.71 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,389.58 จุด เพิ่มขึ้น 44.02 จุด หรือ +0.36% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,164.14 จุด เพิ่มขึ้น 24.38 จุด หรือ +0.34% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,282.75 จุด เพิ่มขึ้น 15.49 จุด หรือ +0.29%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,164.14 จุด เพิ่มขึ้น 24.38 จุด หรือ +0.34%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) หลังจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสูดในรอบ 14 ปี นอกจากนี้ การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นนิวยอร์กยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นแรงซื้อในตลาดน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.15 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 62.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.09 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 66.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ และส่งผลให้สัญญาทองคำปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ยังทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 5.50 ดอลลาร์ หรือ 0.42% ปิดที่ 1312.30 ดอลลาร์/ออนซ์ และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาทองคำปรับตัวลงราว 0.9%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 15 เซนต์ หรือ 0.91% ปิดที่ 16.272 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 6.70 ดอลลาร์ หรือ 0.70% ปิดที่ 950.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.55 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 988.55 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (16 มี.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี และดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดในเดือนก.พ.
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2284 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2303 ดอลลาร์ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.3939 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3934 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7712 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7798 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 106.09 เยน จากระดับ 106.25 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9528 ฟรังก์ จากระดับ 0.9516 ฟรังก์