บัญชีมาร์จิ้น-บล็อกเทรด
มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วง 2 - 3 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวเลขเฉลี่ยล่าสุดที่ค่อนข้างเป็นทางการคือกว่า 7.20 หมื่นล้านบาทต่อวัน คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างมาก
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วง 2 – 3 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ตัวเลขเฉลี่ยล่าสุดที่ค่อนข้างเป็นทางการคือกว่า 7.20 หมื่นล้านบาทต่อวัน
คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการ และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างมาก
ด้านผู้บริหารของโบรกเกอร์ยอมรับเช่นกันว่าเป็นตัวเลขซื้อขายค่อนข้างสูง และขณะเดียวกันก็มีแรงเก็งกำไรเข้ามาอย่างมาก ทำให้วอลุ่มซื้อขายโป่งขึ้นมา
และส่วนหนึ่งมาจากการใช้บัญชีมาร์จิ้น
ล่าสุด ตัวเลขบัญชีมาร์จิ้นของทุกโบรกฯ รวมกันที่ปล่อยให้กับนักลงทุนอยู่ราวๆ 7.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) หรือเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) ถือเป็นบัญชีที่โบรกฯเปิดเพื่อให้สินเชื่อกับนักลงทุนในการลงทุนซื้อหุ้น
ก่อนหน้านี้ เคยถามผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับบัญชีมาร์จิ้น
ได้รับคำตอบว่า ก.ล.ต.ก็จับตามองอยู่
ทว่ายังไม่มีอะไรที่พบว่าผิดปกติ หรือจะเป็นสัญญาณอันตรายว่ามีการปล่อยมาร์จิ้นกันสูงเกินไปหรือไม่
มีการเปรียบเทียบว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ขณะนั้นโบรกฯต่างๆ มีการปล่อยมาร์จิ้นรวมกันกว่า 1.5–2.0 แสนล้านบาท
ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป อยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท
ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะพบว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปอย่างมาก และมีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหา และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ส่วนปัจจุบัน แม้ตัวเลขการใช้บัญชีมาร์จิ้นจะเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560
แต่ตัวเลขการปล่อยมาร์จิ้น กับมาร์เก็ตแคปปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก จึงไม่มีนัยสำคัญนำไปสู่ภาวะอันตราย
คุณมนตรี ศรไพศาล ซีอีโอ ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ในฐานะเป็นบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนการปล่อยบัญชีมาร์จิ้นมากสุด (หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท) บอกว่ายังถือว่าเป็นตัวเลขปกติ
ส่วนเมย์แบงก์ฯสามารถปล่อยบัญชีมาร์จิ้นได้ถึง 1.5–1.6 หมื่นล้านบาท
ในปี 2561 เท่าที่ดูจากข่าวมีโบรกฯ หลายแห่งพยายามที่จะเพิ่มการปล่อยมาร์จิ้นให้มากขึ้น
หลายหลายโบรกฯให้ดึงเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นมาเป็นจุดขาย
เช่น บล.ไอร่า ที่มีการเสนอให้อัตราดอกเบี้ย 5.20% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่มาเปิดบัญชีใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทกำหนดเท่านั้น
เช่นเดียวกับโบรกฯ อื่นๆ ที่พยายามสร้างแรงจูงใจการใช้บัญชีมาร์จิ้นเช่นกัน
แต่ตัวเลขดอกเบี้ยที่แข่งขันกัน จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสมาคมโบรกฯที่ระบุไว้ว่า ห้ามต่ำกว่าจำนวนเท่าไหร่
เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหากับโบรกฯ ทั้งระบบได้
ว่ากันว่าโบรกฯต่างพยายามที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเองแบบหลากหลายมากขึ้น
และไม่ได้ยึดติดอยู่กับรายได้จากแชร์วอลุ่มเทรด
ส่วนหุ้นที่จะใช้บัญชีมาร์จิ้นได้ นอกจากจะยึดตามประกาศว่าด้วยหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์แล้ว
แต่ละโบรกฯก็จะมีการกำหนดเองด้วยว่า มีหุ้นบริษัทใดบ้างที่สามารถใช้หรือห้ามใช้บัญชีมาร์จิ้น โดยเป็นการคำนวณความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวกันขึ้นมาเอง
กลุ่มนักลงทุนที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นจะเป็นรายย่อย
ส่วนนักลงทุนสถาบันนั้นไม่มี
และนักลงทุนต่างประเทศ เขาก็จะมีแหล่งเงินกู้อยู่แล้ว (แครี่เทรด)
ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยคิดเป็น 48% ของนักลงทุนทั้งหมด
ที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศ
มีคำถามว่ามีโอกาสไหมที่ยอดปล่อยบัญชีมาร์จิ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท
คำตอบคือเป็นไปได้ และยังไม่เป็นระดับที่น่าเป็นห่วง
แม้ตัวเลขการใช้บัญชีมาร์จิ้นจะเพิ่มขึ้น และมีส่วนการเพิ่มการเก็งกำไรกับตลาดหุ้นอย่างร้อนแรง (บ้าง)
แต่ก็ยังไม่รุนแรงไปกว่า “บล็อกเทรด” (BLOCK TRADE) ที่สร้างแรงเหวี่ยงให้กับตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา และกำลังถูกจับตาอย่างมากในขณะนี้