งูกินหางกับดอลลาร์กงเต็ก
ทุกๆ เทศกาล เช็งเม้ง และตรุษจีน รวมทั้งไหว้เจ้า คนที่มีเชื้อสายจีนจะเผาเงินที่มีรูปเง็กเซียนฮ่องเต้ใบละ 1,000-10,000 ล้านบาทกันเป็นว่าเล่นอย่างไม่เสียดาย เพราะรู้ดีว่าเงินนั้นมีค่าเฉพาะบนสวรรค์ (ซึ่งไม่รู้มีจริงหรือไม่) เท่านั้น เพราะคนเผายังไม่เคยไปแล้วกลับมายืนยันสักคน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ทุกๆ เทศกาล เช็งเม้ง และตรุษจีน รวมทั้งไหว้เจ้า คนที่มีเชื้อสายจีนจะเผาเงินที่มีรูปเง็กเซียนฮ่องเต้ใบละ 1,000-10,000 ล้านบาทกันเป็นว่าเล่นอย่างไม่เสียดาย เพราะรู้ดีว่าเงินนั้นมีค่าเฉพาะบนสวรรค์ (ซึ่งไม่รู้มีจริงหรือไม่) เท่านั้น เพราะคนเผายังไม่เคยไปแล้วกลับมายืนยันสักคน
เงินกงเต็ก ดังกล่าว มีคนเปรียบเปรยว่า กำลังจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในอนาคตของดอลลาร์สหรัฐที่เคยยิ่งใหญ่เหนือสกุลอื่นใดมานับแต่สิ้นสงครามโลกจนถึงปัจจุบัน
แม้คำเปรียบเปรยดังกล่าวจะยังเร็วเกินไป แต่ความเป็นไปได้ยังไม่ปิดตาย เพราะแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นได้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ “จุดสลบ” ที่จีนเปิดเอาไว้โล่งโจ้ง นั่นคือการถอนตัวจากการถือครองพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะกลางและยาวของรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งจะส่งผลต่อค่าดอลลาร์สหรัฐทั้งโดยตรงและอ้อม
สงครามการเงินที่จีนชิงกระทำ หลังจากการเปิดสงครามการค้าของสหรัฐฯที่ทำเนียบขาวใช้มาตรา 301 เริ่มขึ้นมาก่อน (และเน้นพุ่งเป้าที่จีน) ถือเป็นการโจมตีจุดที่เปราะบางสุดของสหรัฐฯ
ตัวเลขตัวเลขหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดวันที่ 16 มีนาคม มียอดรวมเกิน 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว เป็นสถิติสูงสุดใหม่ เริ่มถูกสมทบด้วยตัวเลขเลวร้ายทำนองเดียวกันว่า สิ้นงวดไตรมาสสี่ปีที่ผ่านมา ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯติดลบมากกว่าไตรมาสสาม 26% เป็นที่ระดับ 1,282 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.6% ของจีดีพี ซึ่งแม้ยังห่างจากตัวเลขติดลบ เป็นสถิติสูงสุด 6.2% ของจีดีพีใน 3 ปีก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่ก็เป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน
ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ล่าสุดนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า มีทิศทางเดียวกันกับตัวเลขหนี้ต่างประเทศของสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่ในอดีตจะสวนทางกัน
ที่ผ่านมา ตัวเลขหนี้ต่างประเทศที่เพิ่ม แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกมักจะถูกอ้างอิงเสมอจากนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันว่า เกิดจากต่างชาติ “พึงพอใจ” จะให้อเมริกากู้ยืมโดยสมัครใจ และเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ตัวเลขหนี้ต่างประเทศของสหรัฐฯ ล่าสุดเท่าที่ค้นมาได้ล่าสุด เป็นของงวดสิ้นเดือนกันยายน 2560 มียอดรวม 6.773 ล้านล้านดอลลาร์ มีดอกเบี้ยจ่ายต่อปี 3.124 แสนล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยส่วนหลักคือ 1) หนี้พันธบัตรรัฐบาล 1.612 ล้านล้านดอลลาร์ ดอกเบี้ยจ่ายต่อปี 9.199 หมื่นล้านดอลลาร์ 2) หนี้หุ้นกู้และเงินกู้ยืมสถาบันการเงินอเมริกัน 2.345 ล้านล้านดอลลาร์ ดอกเบี้ยจ่ายต่อปี 4.629 หมื่นล้านดอลลาร์ 3) หนี้หุ้นกู้และเงินกู้บริษัทเอกชนอเมริกัน 2.119 ล้านล้านดอลลาร์ ดอกเบี้ยจ่ายต่อปี 1.742 แสนล้านดอลลาร์ 4) หนี้เงินกู้เฟด 6.96 แสนล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ ไม่มีดอกเบี้ยจ่าย
ยอดหนี้ต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับค่าดอลลาร์ที่อ่อนลง จะยิ่งมีผลต่อตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดให้เร่งการติดลบมากขึ้น จาก 2 ปัจจัยหลักคือ
- มาตรการกีดกันทางการค้าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะไม่สามารถลดอุปสงค์สินค้านำเข้าได้จริง เนื่องจากโรงงานผลิตในอเมริกามีขีดความสามารถการแข่งขันต่ำกว่าต่างประเทศ ยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวเท่าใด อุปสงค์สินค้านำเข้ายิ่งทวีคูณ
- อุปสงค์จากการถือสินทรัพย์ในรูปเงินสกุลดอลลาร์ฯลดลงในระยะยาว กดดันค่าดอลลาร์เสื่อมลงต่อเนื่อง
ย้อนหลังจากการฉีกข้อตกลงเบรตันวูด ยกเลิกผูกเงินดอลลาร์กับทองคำในปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน และทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นเพียงชาติเดียวที่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาเป็นปริมาณเท่าใดก็ได้ โดยมอบอำนาจให้เฟดทำหน้าที่ควบคุมการผลิตเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจอเมริกา เพื่อให้เงินดอลลาร์ เป็นสกุลเงินหลักของโลกที่แอบอิงกับปริมาณการค้าน้ำมันของโลก ภายใต้ข้ออ้างป้องกันและต่อสู้เงินเฟ้อ
ข้ออ้างดังกล่าวได้ผลยืนยาวมาจนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งผลพวงของมาตรการ QE พิมพ์ธนบัตรออกมามากกว่าระดับปกติถึง 3 เท่าตัว เพื่อเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลเองประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังอุ้มได้แล้ว ทำให้คนอเมริกันที่ไม่คุ้นชินกับภาวะเงินฝืดนานหลายทศวรรษ จำต้องเผชิญข้อเท็จจริงว่า โลกไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่พวกเขายากจะยอมรับได้ ผลลัพธ์คือเหตุที่มาของชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และพวก
การพิมพ์ดอลลาร์ออกมามหาศาลของเฟดตามมาสมทบด้วยปริมาณเงินที่มากกว่าของธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่น ด้วยข้ออ้างเดียวกัน ทำให้เงินดอลลาร์ที่ล้นเกินความต้องการถูกส่งออกไปทั่วโลกผ่านตลาดเก็งกำไร ในลักษณะ “ตีตั๋วฟรี (หรือถูกมาก)” (free riding) ผ่านธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันโลก ที่ปริมาณ 85% หมุนเวียนกระทำกันอยู่ภายนอกสหรัฐฯ
การส่งออกเงินดอลลาร์ที่ด้วยมูลค่าที่แท้จริง น่าจะไม่ต่างกับ “แบงก์กงเต็ก” น่าจะถูกทบทวนมากขึ้น นับจากสงครามการค้า-การเงินที่มีสภาพเป็น “งูกินหางตัวเอง” (Ouroboros) ล่าสุดนี้ ไม่ว่ามันจะถูกจำกัดวง หรือ ขยายวงก็ตาม
ถึงเวลานั้น ฟองสบู่การเงินที่ท่วมโลกมาหลายปีแล้ว อาจจะถึงเวลาแตกได้ หากไม่ระวังให้ดี