KTC วิ่งแรง 5 วันติด! บวกต่อ 4% รับโบรกฯ อัพเป้าใหม่ 350 บ. ชี้สินเชื่อขยายตัวเด่น

KTC วิ่งแรง 5 วันติด! บวกต่อ 4% รับโบรกฯ อัพเป้าใหม่ 350 บ. ชี้สินเชื่อขยายตัวเด่น โดยล่าสุด ณ เวลา 10.34 น. อยู่ที่ระดับ 288 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาท หรือ 3.60% สูงสุดที่ระดับ 289 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 281 บาท มูลค่าการซื้อขาย 303.37 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 10.34 น. อยู่ที่ระดับ 288 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาท หรือ 3.60% สูงสุดที่ระดับ 289 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 281 บาท มูลค่าการซื้อขาย 303.37 ล้านบาท โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง 5 วันต่อเนื่องตั้งแต่ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 254 บาท เมื่อวันที่ 19 มี.ค.61

ด้านนักวิเคราะห์บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุแนะนำ “ซื้อ” KTC โดยปรับราคาเป้าหมายเป็น 350 บาท จากเดิม 285 บาท พร้อมมองแนวโน้มสินเชื่อปีนี้จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2561 เพิ่มขึ้น 3% เทียบกับปีก่อน แม้มีผลกระทบจากเกณฑ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 20% เป็น 18% เต็มปีก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องด้วยสินเชื่อคาดขยายตัวแข็งแกร่ง 10% เทียบกับปีก่อน ตามแผนขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตในทุกกลุ่มลูกค้า และโปรโมชั่นที่หลากหลายเหนือคู่แข่ง และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าหุ้นกู้เก่าที่มีต้นทุนสูงราว 4.3-5.0% มูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.8 พันล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ปี 2560-2561 เติบโตปีละ 11% YoY ผลักดันจาก KTC ใช้นโยบายบริหารหนี้เสีย (NPL) ด้วยการ write-off ต่อเนื่อง และการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รายได้หนี้สูญรับคืนดีขึ้นต่อเนื่อง และค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตร ค่าธรรมเนียมกดเงินสด และค่าธรรมเนียมติดตามหนี้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ

ด้านนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่าราว 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้ในการชดเชยหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอน และใช้รองรับการขยายธุรกิจ รวมไปถึงเป็นการบริหารต้นทุนการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ

ภาพรวมธุรกิจในปีนี้ มองว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโต 15% พอร์ตลูกหนี้เติบโตไม่ต่ำ 10% รวมไปถึงการรักษาระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1.30% ซึ่งส่งผลให้การตั้งสำรองปีนี้จะลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยพบว่าคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทเจาะกลุ่มที่มีฐานรายได้ที่สูงขึ้น

Back to top button