คัด 8 หุ้นเด่นวิ่งรับฤดูร้อน ชูพื้นฐานแกร่งรับเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์

คัด 8 หุ้นเด่นวิ่งรับฤดูร้อน ชูพื้นฐานแกร่งรับเม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์


เข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว ภาวะตลาดหุ้นไทยต้นเดือนเมษายน ยังคงผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูร้อนยังคงเป็นผลดีและถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจบางประเภทที่จะมียอดขายสูงมากกว่าฤดูอื่น

โดย ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินการจัดทำบทวิเคราะห์สถานการณ์ เทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 โดยคาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. จะสร้างรายได้ประมาณ 19,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 530,000 คน เพิ่มขึ้น 13% ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 9,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ยอดจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้า พบต่างชาติมีแนวโน้มเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นดี คือ ฝรั่งเศส ไต้หวัน เกาหลีใต้ รัสเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น

ส่วนตลาดในประเทศคนไทยเที่ยวสงกรานต์ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นสูงทั้งด้านจำนวนและรายได้ โดยมีการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 12% และเกิดการใช้จ่ายสร้างรายได้ภายในประเทศประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งการประกาศเพิ่มวันหยุดและมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง และการเพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงสงกรานต์ และการทำตลาดของ ททท. กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง เพิ่มความน่าสนใจและทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่านักวิเคราะห์คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่แนวโน้มรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลหุ้นที่ได้รับผลดีดังกล่าวมานำเสนอนักลงทุน สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย อาทิ กลุ่มหุ้นเครื่องดื่ม (SAPPE, TACC, ICHI และ CBG)

อีกทั้ง กลุ่มหุ้นผลิตพัดลม แอร์ (KOOL และ SNC) และกลุ่มหุ้นสินเชื่อเช่าซื้อ แอร์ (SINGER และ TSR)

อันดับที่ 1 บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE โดย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 32 บาท/หุ้นทั้งนี้มองว่ากลยุทธ์ในปี 2561 ของ SAPPE คือการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและให้ผู้บริโภครับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทดีต่อสุขภาพ ซึ่งมองว่าน่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในประเทศในปีนี้

ขณะที่ มองว่าการที่ผู้บริหารตัดสินใจลดโปรโมชั่นและการทุ่มทำแคมเปญทางการตลาดในช่วงที่การแข่งขันสูงเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง โดยการเติบโตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและการขยายตลาดจะทำให้ยอดขายโตได้ตามเป้าปีนี้ที่ 10-15%  ด้านราคาหุ้น SAPPE น่าสนใจเพราะมีทิศทางการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอและมีการประเมินมูลค่าถูก คงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยเล็งเห็นปัจจัยบวกจากความสำเร็จในการรุกตลาดใหม่

 

อันดับที่ 2 บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 4.80 บาท/หุ้น โดย TACC ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ “Rilakkuma” ในเครือ “San-X” ใน 7 ประเทศ (CLMV, สิงคโปร์, มาเลเซีย และไทย) เริ่ม 1 ม.ค. 61 เป็นเวลา 4 ปี

โดยมีฐานลูกค้าเดิม 22 ราย ทางฝ่ายชอบธุรกิจดังกล่าวเนื่องจากมี Margin สูง และไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม โดยบริษัทจะมีรายได้เป็น License fee ส่วนต้นทุนคือการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามทางฝ่ายคาดอนาคตธุรกิจนี้อาจไม่ได้โตโดดเด่น เนื่องจาก “Rilakkuma” ได้รับความนิยมมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แม้มีผู้ชื่นชอบอยู่จำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่กระแสที่แปลกใหม่

ทั้งนี้ถึงแม้ทางฝ่ายมองว่าการเติบโตปีนี้จะไม่โดดเด่น และคาดระยะสั้นกำไรไตรมาส 1/61 จะอ่อนตัวจากปีก่อนจากผลกระทบด้านภาษีน้ำตาล แต่ราคาหุ้นปัจจุบันได้ปรับตัวลงสะท้อนปัจจัยดังกล่าว และต่ำกว่าราคาพื้นฐานของทางฝ่ายที่ 4.80 บาท อิง PE 61 ที่ 25 เท่า ทางฝ่ายจึงปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อเก็งกำไร”

 

อันดับที่ 3 บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ด้าน บล.เออีซี แนะนำ “BUY” ราคาเป้าหมาย 11 บาท/หุ้น โดยยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของ ICHI ด้วยแรงหนุนดังนี้ 1) แนวโน้มสดใสของยอดขายเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มและเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ส่งออกไปยังตลาด CLMV และ 2) แผนลดต้นทุน OEM ด้วยเครื่องจักรใหม่ ดังนั้นเราจึงคงประมาณการเดิม โดยคาดปี 2561 ICHI จะมีกำไรสุทธิ 486 ล้านบาท เติบโต 54.3% จากปีก่อน

ทั้งนี้เพื่อสะท้อนศักยภาพการเติบโตที่ดีในระยะยาว อีกทั้งยังมี Upside 30.2% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2561 ที่ 11 บาท (อิงวิธี DCF) และยังมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2560 ที่ 0.15 บาท/หุ้น คิดเป็น Div.Yield 1.8% (XD 2 พ.ค. และจ่ายปันผล 18 พ.ค. นี้) ดังนั้นจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”

 

อันดับที่ 4 บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ด้าน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ “ซื้อ” หุ้น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) เพื่อสะท้อนศักยภาพทำกำไรที่ดีในระยะยาว อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 28.2% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2561 ที่ 80.75 บาท (วิธี DCF) และคาดให้ Div.Yield ปีนี้ที่ 2.2%

ทั้งนี้ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อ CBG ด้วยแรงหนุนจาก แนวโน้มสดใสของยอดขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศจีนและอังกฤษ ขณะที่การเพิ่มจุดกระจายสินค้า

โดยปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้าเป็น 31 ศูนย์ (334 Cash Van) ครอบคลุมพื้นที่ร้านค้าย่อย 220,000 ร้าน  และ 3. การเติบโตของโมเดลธุรกิจใหม่ จากการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านช่องทาง Cash Van โดยมีทั้งสินค้าของบริษัทและผู้ผลิตรายอื่น ดังนั้นจึงคงประมาณการเดิม

ทั้งนี้ คาดปีนี้ CBG จะมีกำไรสุทธิ 2,009 ล้านบาท เติบโต 61.3% จากปีที่แล้ว ผู้บริหารยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตในระยะยาวของบริษัท โดยยืนยันว่าการรุกตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปยังประเทศอังกฤษเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและดีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านการตลาดด้วย Football Marketing ซึ่งกลยุทธ์นี้นอกจากจะช่วยให้ CBG นำสินค้าไปวางจำหน่ายมากกว่า 30 Chain Store ใหญ่ๆในอังกฤษได้แล้ว ยังช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นๆ เช่น อาเซอร์ไบจาน, กานา, ฝรั่งเศส, เปรู ฯลฯ เริ่มเข้ามาติดต่อสั่งซื้อสินค้า ตอกย้ำโอกาสทางธุรกิจที่จะผลักดันเครื่องดื่มบำรุงกำลังคาราบาวเป็นสินค้าระดับโลก

ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น จากแผนผลิตเองในบางสินค้า Own Brand เพื่อลดต้นทุน OEM และปัจจัยบวกจากต้นทุนราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลงราว 16.4% นับจากต้นปี  และ 4) CBG มีแผนลดต้นทุนทางการเงินด้วยการ Refinance โดยออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท ที่เรทติ้ง A- หวังลดดอกเบี้ยราว 50-100 Basis Point หรือคิดเป็นมูลค่า 15-30 ล้านบาท

 

อันดับที่ 5 บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KOOL ด้าน นายนพชัย วีระมาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล (KOOL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะสามารถกลับมาทำกำไรสุทธิในปีนี้ จากที่ขาดทุนสุทธิ 84.24 ล้านบาทในปีที่แล้ว หลังวางเป้าหมายรายได้เติบโต 25% จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และการขยายช่องทางการขายสินค้าในทุกช่องทางจำหน่าย ทั้งจากดีลเลอร์ และโมเดิร์นเทรด พร้อมการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ผ่านช่องทางการขาย บนระบบอีคอมเมิร์ช (E-commerce) ชั้นนำของไทย รวมทั้งขายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ shop.masterkool.com ซึ่งเป็นช่องทางที่บริษัทได้ทำการตลาดเพื่อรองรับการเข้าถึงของลูกค้าได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“เรามั่นใจว่าปีนี้ทิศทางธุรกิจดีขึ้นจากการดำเนินงานหลายส่วน ทั้งการเปิดตัวสินค้าใหม่ และการวางแนวทางการตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ปีที่แล้วสภาพอากาศไม่ร้อน ฝนก็เยอะ คู่แข่งใหม่ก็เข้ามาเยอะซึ่งผิดจากที่คาดการณ์ไว้ เรายังปรับตัวไม่ทัน แต่ปีนี้เราปรับตัวรองรับสถานการณ์การแข่งขัน ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ มั่นใจจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ก็ตั้งเป้าจะให้สามารถทำกำไรได้”นายนพชัย กล่าว

ทั้งนี้ สภาพอากาศที่ไม่ร้อนในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อบริษัทค่อนข้างมาก เนื่องจากทำให้ความต้องการใช้เครื่องทำความเย็นทั้งในส่วนของเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมไอเย็นหดตัวลง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงทำให้บริษัทยังไม่สามารถปรับตัวได้ทัน แต่ปีนี้แม้สภาพอากาศอาจจะมีความผันผวน และการแข่งขันยังคงมีความรุนแรงอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามการที่ตลาดเครื่องทำความเย็นยังเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ ทำให้บริษัทยังมองเห็นโอกาส และออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่มาใช้เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น  อีกทั้งเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ก็เชื่อมั่นว่าจะเติบโตจากปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวด้านการลงทุนของภาครัฐและเอกชน  รวมถึงภาคการส่งออกปีนี้ที่มีการขยายตัวที่ดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อโดยรวมของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ก็จะส่งผลให้ยอดจำหน่ายของบริษัทเติบโตไปด้วย

โดยปีนี้บริษัทวางแผนจะใช้งบประมาณการทำตลาดประมาณ 30 ล้านบาท และเตรียมออกสินค้าประเภทพัดลมไอเย็นใหม่ 3 รุ่น โดยล่าสุดวันนี้ได้เปิดตัวพัดลมไอเย็นรุ่นใหม่  “เย็นไล่ยุง” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พัดลมไอเย็น ตัวแรกของไทย ที่ผสานเทคโนโลยีความเย็นสบาย ป้องกันยุง ไร้สารเคมี โดยใช้คลื่นความถี่สูงอุลตร้าโซนิค ติดตั้งภายในเครื่องเดียวกัน  เพื่อตอบสนองและเข้าถึงการใช้งานไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ที่นับเป็นการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ สู่ตลาดพัดลมไอเย็นภายใต้ แบรนด์ “MASTERKOOL”

สำหรับ “พัดลมไอเย็น รุ่น”เย็นไล่ยุง” บริษัทได้เปิดตัวเป็นรุ่นแรกในชื่อรุ่น MIK-28EX มีการเพิ่มระบบไล่ยุง ด้วยการนำคลื่นความถี่อุลตร้าโซนิคมาใช้ที่นับเป็นฟังก์ชั่นพิเศษของมาสเตอร์คูล โดยเปิดตัวพร้อมกับรุ่น  MIK-14EX  ซึ่งเป็นพัดลมไอเย็นตัวใหม่ที่เปิดตัวในปีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้การออกผลิตภัณฑ์พัดลมไอเย็น ของมาสเตอร์คูล โดยเฉพาะรุ่นเย็นไล่ยุง ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่บริษัท นำออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนอง ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และกลุ่มนิช มาร์เก็ต (Niche Market) ที่ต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสะท้อนความเป็นตัวตน ทั้งในเรื่องการออกแบบ ความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้ทุกโอกาส และทุกสถานที่ ได้อย่างลงตัว ซึ่งมั่นใจว่า จะได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดีในทุกกลุ่มเป้าหมาย

ส่วนการที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 144 ล้านบาท จากเดิม 120 ล้านบาท โดยออกจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 96 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.25 บาท จัดสรรจำนวน 48 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน และจัดสรร 48 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนในวงจำกัด (PP) เพื่อให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจปกติและขยายธุรกิจ ส่งเสริมสภาพคล่อง และโครงสร้างเงินลงทุนที่เหมาะสม

โดยในส่วนของการเสนอขายหุ้นให้กับ PP นั้น เนื่องจากปัจจุบันมีองค์กรที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพื่อเป็น Strategic Partner ช่วยขยายช่องทางธุรกิจเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาถือหุ้นไม่เกิน 10% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดก่อนจะสรุปแนวทางที่ชัดเจน จึงได้เปิดกว้างการเพิ่มทุนเป็นแบบ General Mandate

สำหรับอันดับที่ 6 ,7 และ 8 ได้แก่ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC , บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER  และบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือTSR

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button