มรสุมถาโถมหุ้นแบงก์ราคาร่วงยกแผง โบรกฯ หั่นกำไร Q1 วิตกศึกยกเลิกค่าฟี

มรสุมถาโถมหุ้นแบงก์ราคาร่วงยกแผง โบรกฯ หั่นกำไร Q1 วิตกศึกยกเลิกค่าฟี


นับตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน Netbank เมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.61 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารปรับตัวลงแรง เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลว่าประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของกลุ่มธนาคาร

ขณะที่วันนี้ (4 เม.ย.) มีกระแสข่าวออกมาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ส่งผลให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มไฟแนนซ์ออกมากดดัชนีตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งวัน

ขณะเดียวกัน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้แจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการรายได้จากค่าธรรมเนียมปี 61 เป็นติดลบ 6-8% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนเป้าหมายทางการเงินอื่น ได้แก่ สินเชื่อยังคงคาดว่าจะเติบโต 5-7%, ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.2-3.4%, อัตรารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income Ratio) ราว 40% สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross) อยู่ที่ 3.3-3.4% อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเงินดังกล่าว เป็นการคาดการณ์ของธนาคารในเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หากสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่เหลือน่าจะทยอยประกาศปรับลดประมาณการรายได้ เนื่องจากมีการงดเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ระบุว่า คาดการณ์งบไตรมาสแรกของธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง จะมีกำไรสุทธิ 37,951 ล้านบาท ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 7.8% จากไตรมาสก่อนหน้านี้

โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 8,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 9,792 ล้านบาท ลดลง 17.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปีก่อนนี้กำไรพิเศษ และเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 6,330 ล้านบาท ลดลง 25.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 31.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ยังคงมีการตั้งสำรองสูง

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 6,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 1,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 4.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ที่ 2,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ที่ 1,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP คาดว่าจะมีกำไรสุทธิไตรมาสแรก ปีนี้ ที่ 1,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมาจะไม่กระทบต่องบไตรมาสแรก แต่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาส 2/61 ถึงสิ้นปีนี้ โดย SCB จะได้รับผลกระทบ 3.1% ของรายได้ทั้งหมด BBL กระทบ 2.6%, KTB กระทบ 2.7% และ BAY กระทบ 1.4%

ส่วน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดผลประกอบการรวมของกลุ่มธนาคารที่ 4.98 หมื่นล้านบาท คงที่จากไตรมาส 1/60 โดยคาดว่าธนาคารขนาดกลาง และเล็ก จะมีการเติบโตของ EPS ที่ดีกว่าธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ TCAP จากสินเชื่อรถยนต์ และ BAY ส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น รวมถึง TMB จากค่าธรรมเนียมของ FWD ถึงแม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่จะโชว์สินเชื่อที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ผลประกอบการไตรมาส 1/61 จะถูกกดดันจากการตั้งสำรอง IFRS9 และกระบวนการ Digital Transformation ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

อนึ่ง ปิดตลาดวันนี้ (4 เม.ย.) ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 195.50 บาท ลบ 16.50 บาท หรือ 7.78% สูงสุดที่ 213 บาท ต่ำสุดที่ 195.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 5 พันล้านบาท

ราคาหุ้น BBL อยู่ที่ 188.50 บาท ลบ 10 บาท หรือ 5.04% สูงสุดที่ 199.50 บาท ต่ำสุดที่ 187.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.06 พันล้านบาท

ราคาหุ้น SCB อยู่ที่ 140 บาท ลบ 3.50 บาท หรือ 2.44% สูงสุดที่ 144 บาท ต่ำสุดที่ 138 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.17 พันล้านบาท

ราคาหุ้น KTB อยู่ที่ 18.30 บาท ลบ 0.60 บาท หรือ 3.17% สูงสุดที่ 18.90 บาท ต่ำสุดที่ 18.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.84 พันล้านบาท

ราคาหุ้น BAY อยู่ที่ 39 บาท ลบ 1 บาท หรือ 2.50% สูงสุดที่ 40.25 บาท ต่ำสุดที่ 38.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 35.90 ล้านบาท

ราคาหุ้น TMB อยู่ที่ 2.40 บาท ลบ 3.50 บาท หรือ 2.44% สูงสุดที่ 144 บาท ต่ำสุดที่ 138 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.17 พันล้านบาท

ราคาหุ้น TISCO อยู่ที่ 87.75 บาท ลบ 3 บาท หรือ 3.31% สูงสุดที่ 91.25 บาท ต่ำสุดที่ 87 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.01 พันล้านบาท

ราคาหุ้น KKP อยู่ที่ 70 บาท ลบ 3 บาท หรือ 4.11% สูงสุดที่ 73.25 บาท ต่ำสุดที่ 70 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 505.71 ล้านบาท

ราคาหุ้น TCAP ทรงตัวอยู่ที่ 52 บาท สูงสุดที่ 53 บาท ต่ำสุดที่ 52 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 199.53 ล้านบาท

 

Back to top button