ดิจิตอล ทีวีลูบคมตลาดทุน
ปลายปี 2557 เคยเขียนเรื่อง “ดิจิตอล ทีวี” ในคอลัมน์นี้ว่า จะต้องมีผู้ประกอบการม้วนสื่อกลับบ้านแน่นอน
ธนะชัย ณ นคร
ปลายปี 2557 เคยเขียนเรื่อง “ดิจิตอล ทีวี” ในคอลัมน์นี้ว่า จะต้องมีผู้ประกอบการม้วนสื่อกลับบ้านแน่นอน
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อ “ไทยทีวี” ที่ได้รับการประมูลช่องดิจิตอล ทีวี มาจำนวน 2 ช่อง คือ “ช่องข่าว” และ “ช่องเด็ก” แจ้งขอไม่ดำเนินการต่อแล้ว
ปัญหาของไทยทีวี ยังสร้างความตระหนกมายังตลาดหุ้นของไทยด้วยในช่วงเช้าวานนี้
เพราะแบงก์กรุงเทพ (BBL)ในฐานะเป็นผู้ออกจดหมายค้ำประกันให้กับไทยทีวีกว่า 1.6 พันล้านบาท อาจจะถูกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ยึดเงินค้ำประกัน
กระทั่งหวั่นว่า BBL อาจต้องตั้งสำรองเผื่อฯ เพิ่ม
นั่นเพราะ BBL จะต้องไปไล่เบี้ยกับไทยทีวีต่อไป ซึ่งกระบวนการนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาอีกยาวแน่นอน
ส่งผลให้หุ้น BBL ปรับลงไปต่ำสุดที่ 177 บาท ก่อนที่ช่วงปิดตลาด ราคาจะรีบาวด์ขึ้นมาได้แบบเสมอตัว หรือไม่เปลี่ยนแปลง (ปิดตลาด 180 บาท)
ส่วน “เสี่ยปั้น” บัณฑูร ล่ำซำ ออกมาพูดเรื่องนี้ด้วยวานนี้
เจ้าตัวรีบออกตัวก่อนว่า ในส่วนของแบงก์กสิกรไทยจะไม่มีปัญหากับลูกค้าที่เป็นดิจิตอลทีวี เพราะก่อนหน้านี้มีการคัดเลือกลูกค้าที่มีศักยภาพ
ดังนั้น โอกาสที่จะต้องตั้งสำรองเผื่อฯ สำหรับธุรกิจนี้จึงมีน้อยมาก
แต่เสี่ยปั้นยังมองโลกในด้านบวก ที่บอกว่าธุรกิจดิจิตอล ทีวี เพิ่งจะเกิดขึ้นมาใหม่ จึงต้องมีปัญหาบ้างเป็นธรรมดา ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีด้วย
ในช่วงต้นปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประมาณการเม็ดเงินโฆษณาจะอยู่ประมาณ 131,300-134,800 ล้านบาท
ตัวเลขนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นจากในปี 2557 ที่มีเม็ดเงิน 118,348 ล้านบาท หรือเติบโตอยู่ในกรอบ 11-14%
ประเด็นที่ว่านี้ คือ ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าว ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างมากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนสื่อ เช่น ดิจิตอล ทีวี ที่เพิ่มขึ้นมาในระบบ
แน่นอนว่าทุกผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันอย่างหนัก เพื่อชิงเม็ดเงินที่ว่านี้
การลงทุนในหลายช่องของดิจิตอล ทีวี ใช้เงินกันไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท หรือหลายพันล้านบาท
การแข่งขันมีทั้งดึงตัวบุคลากรที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง วงการข่าว หรือบุคคลที่พอจะเป็นที่รู้จักมาอยู่กับช่องของตัวเองแล้ว ยังต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก
การแข่งขันในธุรกิจสื่อนั้นไม่ใช่เพียงแต่มี Content ที่ดี
ทว่ายังต้องมี Connection ที่ดีด้วย
ที่ผ่านมามีหลายสื่อที่สร้าง Content ที่ดีมาก แต่ไม่มี Connection ที่ดี หรืออาจจะดี แต่ยังดีไม่เพียงพอ ก็ทำให้ต้องล้ม และล่มสลายในเวลาต่อมา
กรณีของไทยทีวีนั้น ทางผู้บริหารของสถานีก็ยังคงยืนยันว่า จะไม่ดำเนินการต่อแน่นอน
ขณะที่ กสทช.ก็ยืนยัน เช่นกันอีกว่า ทางไทยทีวีจะต้องจ่ายค่าไลเซนส์ให้ครบ แม้จะไม่ดำเนินการต่อ
เหตุผลที่ไทยทีวีให้นั้น ไม่ได้กล่าวโทษตัวเอง แต่มีมุมมองว่า ปัญหาเกิดขึ้นจาก “กสทช.” นั่นแหละที่ไม่สามารถดำเนินการในการขยายฐานผู้ชมทางบ้านได้ตามระยะเวลาที่วางไว้
ประเด็นนี้ก็คงต้องไปต่อสู้กันอีกยาวครับ
ผ่านมาถึงตอนนี้ ก็มีคำถามตามมาครับ
จะมีดิจิตอลทีวี ช่องไหน อีกไหม ที่จะมีปัญหาเช่นเดียวกับไทยทีวี
เท่าที่พูดคุยกับบรรดาบุคคลในวงการ คำตอบคือ “มี” เพราะขณะนี้บางช่องก็เริ่มส่งสัญญาณที่ไม่ดีตามมาบ้างแล้ว แม้ว่าในงวดล่าสุดจะชำระเงินให้กับ กสทช.ได้ตามกำหนด
ทว่า ในงวดต่อไปก็ไม่แน่เหมือนกัน
ดิจิตอลทีวีในบางช่อง เริ่มหยุดการลงทุนเพิ่มเติม
หรือหากมีบุคลากรในสถานีของตัวเองลาออก ก็จะหยุดรับ รวมถึงมีการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
คงจะเห็นมีม้วนเสื่อกลับบ้านรายต่อไปแน่นอน