สงครามเย็นที่ไร้อุดมการณ์
ประโยคทองของนายอันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติ ที่ออกมาเตือนสติชาติมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ซีเรียปัจจุบันว่า สงครามเย็นครั้งที่สองกำลังจะกลับมาเกิดขึ้น มีความหมายที่ต้องใคร่ครวญกันมากทีเดียว
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ประโยคทองของนายอันโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการทั่วไปของสหประชาชาติ ที่ออกมาเตือนสติชาติมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ซีเรียปัจจุบันว่า สงครามเย็นครั้งที่สองกำลังจะกลับมาเกิดขึ้น มีความหมายที่ต้องใคร่ครวญกันมากทีเดียว
คำถามคือข้อสรุปดังกล่าว อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก เนื่องจากพื้นฐานของสงครามเย็น (ถ้าจะเกิดขึ้นจริง) รอบนี้จะไม่ใช่สงครามที่มีอุดมการณ์เป็นเครื่องมือแบบเดิม แต่น่าจะเป็นสงครามที่ย้อนรอยไปละม้ายถึงยุคของสงครามย่อยในยุโรป (โดยเฉพาะคาบสมุทรบอลข่าน) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยก็ว่าได้
คำว่าสงครามเย็น ในทางการเมืองและประวัติศาสตร์ หมายถึงสถานะความตึงเครียดทางการเมืองและการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างประเทศในกลุ่มตะวันตก(สหรัฐอเมริกาพันธมิตรที่เรียกรวมๆว่าโลกเสรี (ซึ่งไม่ถูกต้องเสียทีเดียว)) และประเทศในกลุ่มตะวันออกในค่ายสังคมนิยม (สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในสนธิสัญญาวอร์ซอ) ในช่วง ค.ศ. 1947–1991
ที่เรียกว่า “เย็น” เพราะไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่โดยตรงระหว่างมหาอำนาจสองฝ่าย แม้มีสงครามในภูมิภาคสำคัญๆ ที่เรียกสงครามตัวแทนในตะวันออกกลาง เกาหลี เวียดนาม และอัฟกานิสถาน (ไม่นับรวมการเข้าแทรกแซงการต่อสู้ทางการเมืองและทางทหารในหลายประเทศทั่วโลก) ซึ่งทั้งสองฝ่ายสนับสนุน
สงครามเย็นแบ่งแยกพันธมิตรยามสงครามชั่วคราวที่เคยต่อสู้กับฝ่ายอักษะ นำโดยนาซีเยอรมนีและกองทัพญี่ปุ่น ออกเป็นสองค่ายชัดเจน (โดยมีตัวแปรที่ไม่มีอิทธิพลอะไรมากนัก คือ กลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขัดตาทัพบ้าง)
เส้นแบ่งหยาบๆ ที่เป็นข้อแตกต่างทางเศรษฐกิจและการทหาร อยู่ที่ว่า สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นหัวขบวนหลักของพันธมิตรค่ายข้อตกลงสนธิสัญญาวอร์ซอ เป็นรัฐสังคมนิยม และสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐทุนนิยมที่มีการเลือกตั้งเสรีโดยทั่วไป จึงทำให้ใช้ข้ออ้างเชิงอุดมการณ์ในการสร้างอิทธิพลและพันธมิตร โดยปริยาย
สองแกนนำประเทศมหาอำนาจไม่เคยประจัญในการต่อสู้ด้วยอาวุธเต็มขั้น แม้ว่าทุกฝ่ายต่างฝ่ายต่างพากันเร่งสั่งสมอย่างหนัก รอรับสงครามโลกนิวเคลียร์แบบสุดตัวที่อาจเกิดขึ้น แต่สงครามย่อยมากมายทั่วโลก ล้วนเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง จนที่สุดเมื่อเศรษฐกิจสหภาพโซเวียตล่มสลาย มีผลให้สงครามเย็นรู้ผลในขั้นสุดท้าย เมื่อสหรัฐฯภายใต้คำขวัญอย่างอหังการ “แพ้สงครามย่อย แต่ชนะสงครามเย็น” ประกาศ “ระเบียบใหม่ของโลก” (New World Order) ที่มี “ฉันทมติวอชิงตัน” เป็นธงนำ (ซึ่งต่อมา นักคิดอเมริกันรุ่น “ซ้ายกลายเป็นขวา” อย่าง ฟรานซิส ฟูกูยามา นำไปเขียนเป็นคำประกาศว่า นี่คือจุดจบของประวัติศาสตร์)
คำถาม คือ สงครามเย็นครั้งล่าสุด หรือครั้งที่สองนี้ หากไม่ใช่สงครามที่ใช้ข้ออ้างทางอุดมการณ์แล้ว จะใช้ข้ออ้างใดมาสร้างจุดขายให้กับนักยุทธศาสตร์ทางการเมืองและทางทหาร
คำตอบ คือ ต้องย้อนกลับไปใช้ข้ออ้างแบบดิบเถื่อนของสงครามย่อยในคาบสมุทรบอลข่านหรือยุโรปตะวันออกรอบๆ ทะเลดำ ที่มีจุดโดดเด่นสำคัญ คือ สงครามไครเมีย อันเป็นสนาม “ซ้อมรบใหญ่” ก่อนบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คาบสมุทรบอลข่าน ถือได้ว่าเป็น “คลังกระสุนดินดำของยุโรป” (Powder Keg of Europe) หมายถึงแหล่งเปาะบางของความขัดแย้ง ที่พร้อมจะระเบิดเป็นชนวนสงครามได้ทุกเมื่อ จากการขยายตัวของพลังชาตินิยมอันแรงกล้าในกลุ่มคนชาติพันธุ์สลาฟและอื่นๆ ที่ต่างเคยอยู่ใต้เขตปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ที่หมดความอดทนต่อระบบออตโตมัน พากันลุกฮือต่อสู้สร้างชาติกันขึ้นมาใหม่ ในยามที่จักรวรรดิมุสลิมอายุราว 400 ปีเริ่มเสื่อมถอยพลังลงไป
พร้อมกับพลังชาตินิยมในท้องถิ่นที่เฟื่องฟู จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของยุโรปยุคหลังสงครามนโปเลียน ได้เร่งใช้ยุทธศาสตร์ “รุกลงใต้” ขยายอิทธิพลเข้ามาในเขตทะเลดำจริงจัง เพื่อหาทางออกทางทะเลใหม่ นอกเหนือจากที่เคยใช้เมืองท่าในทะเลบอลติกทางตอนเหนือที่มีขีดจำกัดมากกว่า
หลังจากสงครามย่อยมากมายที่เป็นจุดตึงเครียดยาวนานหลายทศวรรษ สงครามไครเมียจึงเกิดขึ้นโดยพันธมิตรคริสเตียนนอกฮอร์โธด็อกซ์ ในเดือนตุลาคม เป็นการปะทะโดยตรงระหว่างพันธมิตรยุโรป อันประกอบด้วยจักรวรรดิฝรั่งเศส จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิออตโตมัน และราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย อีกฝ่ายหนึ่ง กับจักรวรรดิรัสเซีย
ข้ออ้างของสงครามดูไร้สาระพอสมควร เพราะเกิดจากฝรั่งเศสบีบจักวรรดิออตโตมัน ให้ลงนามในสนธิสัญญายินยอม ให้สิทธิแก่ฝรั่งเศสเข้าไปคุ้มครองคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก ในดินแดนใต้ปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ทว่าสิทธิดังกล่าวซ้ำซ้อนกับสนธิสัญญา กูชุกไก นาร์จี ที่ให้สิทธิรัสเซียปกครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายกรีกออร์โธด็อกซ์ในดินแดนของตุรกีตั้งแต่ ค.ศ. 1774
สงครามส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคาบสมุทรไครเมีย ถือเป็นสงครามสมัยใหม่ครั้งแรกของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิค ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางสงครามในอนาคต” ซึ่งรวมไปถึงการใช้ทางรถไฟและโทรเลขในทางยุทธวิธีเป็นครั้งแรกด้วย และเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดทางพลาธิการและยุทธวิธีระหว่างการทัพทางบกของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าผลลัพธ์ในที่สุด คือ กองทัพสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จในการทำลายเรือส่วนใหญ่ของกองทัพเรือรัสเซียในทะเลดำ แต่รัสเซียยังคงสามารถยึดครองไครเมียเป็นฐานทัพสำคัญมาตลอด แม้จะต้องเสียอธิปไตยในไครเมียในบางครั้ง
การสงครามที่ยาวนานเกือบ 3 ปี ทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายตายไปมากกว่า 500,000 คน โดยที่ฝ่ายรัสเซียแพ้ยับเยิน ทหารรัสเซียตายไป 110,000 คน ทหารฝรั่งเศสตาย 95,000 คน ตุรกี 30,000 คน อังกฤษ 20,000 คน รวมแล้ว
หลังสงครามไครเมียที่ทำให้จักรวรรดิรัสเซียและออตโตมันเสื่อมกำลังทางทหารลง เปิดทางให้มหาอำนาจยุโรปตะวันตกและกลางอย่างเยอรมนีกับออสเตีย-ฮังการี เร่งแผ่ขยายตัว โดยแทรกเข้ามาหนุนพวกนักสู้ชาตินิยมกลุ่มต่างๆ ในคาบสมุทรบอลข่านมากขึ้น ก่อนที่จะบานปลายมาเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเกิดเหตุร้ายที่เมืองเซราเจโว
ความคล้ายคลึงกันของสงครามไครเมีย และสงครามกลางเมืองในซีเรียปัจจุบันที่มีสาเหตุจูงใจจากการต่อสู้โดยมีมหาอำนาจหนุนหลัง มากกว่าข้ออ้างเชิงอุดมการณ์ ทำให้สงครามเย็นครั้งที่สองมีความน่าสะพรึงกลัวพอสมควร เพราะบานปลายไปสู่สงครามใหญ่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีความระมัดระวังจากมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องอย่างรัสเซียและสหรัฐฯอยู่บ้างตามสมควร
คำพูด “หลอกตนเอง” ของนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นทั่วโลกวานนี้ที่ว่า “ตลาดคลายกังวล เพราะซึมซับข่าวร้ายจากซีเรียไปแล้ว” จึงเปรียบได้กับภาษิตทางภาคเหนือที่ว่า “จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย” มากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ