ก.ล.ต.เชือดบอร์ดฉาวPOLARกราวรูด! พบหลักฐานกุหนี้3.6พันลบ. หวังฮุบเข้ากระเป๋าหลังฟื้นฟูฯ!
ก.ล.ต.เชือดบอร์ดฉาว POLAR กราวรูด! พบหลักฐานกุหนี้ 3.60 พันลบ. หวังฮุบเงินเข้ากระเป๋าหลังส่งเข้าฟื้นฟูฯ!
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษคณะกรรมการ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR กับพวกรวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันสร้างหนี้เทียมจำนวนประมาณ 3.6 พันล้านบาท เพื่อให้ POLAR เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
รวมทั้งลงข้อความเท็จในบัญชีหรือเอกสารที่เกี่ยวกับ POLAR พยายามเบียดบังเอาทรัพย์สินของ POLAR เป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และพยายามแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นซึ่งทำให้ POLAR เสียหาย
โดยบุคคลที่ถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ ประกอบด้วยกรรมการ POLAR 5 ราย ได้แก่ (1) นายญาณกร วรากุลรักษ์ (2) นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย (3) นายอาสา นินนาท (4) นายฐากร ทวีศรี และ (5) นายดนุช บุนนาค รวมทั้งบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นอีก 6 ราย ได้แก่ (6) บริษัท ซิมบา อินเตอร์ จำกัด (7) นายอัครเดช วัฒนะ (8) นายธัญพงศ์ ลิ้มวงศ์ยุติ (9) บริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด (10) นายอภิรักษ์ จูตระกูล และ (11) นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย
สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของกรรมการ POLAR ในไตรมาส 2 ปี 2560 ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการของ POLAR จำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดทำให้ ก.ล.ต. สรุปได้ว่า บุคคลทั้ง 11 ราย ได้ร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอมและสนับสนุนการกระทำผิดในช่วงปี 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) คณะกรรมการบริษัท POLAR แกล้งให้ POLAR เป็นหนี้จำนวนประมาณ 3.60 พันล้านบาท ทั้งที่ไม่เป็นความจริง โดยให้บุคคลภายนอกนำมูลหนี้ที่ไม่เป็นความจริงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายมูลค่าสูง เพื่อลวงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า POLAR มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น จนเข้าข้อสันนิษฐานของการมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นเหตุในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ซึ่งท้ายที่สุด จะส่งผลให้เจ้าหนี้ที่แท้จริงของ POLAR ไม่ได้รับชำระหนี้ การกระทำดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำการไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
(2) การแกล้งให้ POLAR เป็นหนี้ทั้งที่ไม่เป็นความจริงข้างต้น ทำให้บุคคลภายนอกที่นำมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก POLAR สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ POLAR ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วได้ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการพยายามเบียดบังเอาทรัพย์ของ POLAR เพื่อประโยชน์ของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และเป็นการพยายามแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ POLAR เสียหาย
(3) การที่คณะกรรมการบริษัท POLAR จัดประชุมกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ POLAR ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวจากหนี้ทั้งที่ไม่เป็นความจริง และการที่ POLAR ชี้แจงข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว
รวมถึงการที่ POLAR ยื่นคำให้การในคดีล้มละลายโดยยอมรับตามคำฟ้องของนายกำแหงทุกประการว่า POLAR ผิดสัญญาซื้อขายหุ้นต้องคืนเงินค่าหุ้นให้นายกำแหง 105 ล้านบาท เป็นการกระทำหรือยินยอมให้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ POLAR หรือที่เกี่ยวกับ POLAR เพื่อลวงบุคคลทั่วไปรวมทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของ POLAR
ทั้งนี้ การกระทำตามรายละเอียดข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 310 และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 308 และมาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ ก.ล.ต. ต้องดำเนินการกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการกระทำผิดแต่ละกรณีอาจต้องระวางโทษอาญาโดยจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังมีผลให้บุคคลที่ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร และไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ซึ่งในกรณีนี้เป็นผลให้กรรมการ POLAR ทั้งคณะจำนวน 5 ราย ได้แก่ นายญาณกร นายพูนศักดิ์ นายอาสา นายฐากร และนายดนุช ไม่สามารถเป็นกรรมการ POLAR ต่อไปได้ อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ POLAR เนื่องจากปัจจุบันอำนาจในการบริหารจัดการ POLAR ตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด POLAR
อนึ่งการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ
โดยก่อนหน้านี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2561 โดยให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หลังจาก POLAR ถูก นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย เป็นโจทก์ฟ้อง คดีล้มละลายหมายเลขดำที่ ล.1533/2560 และบริษัทได้หมายเรียกจากศาลล้มละลายกลาง โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2560
ทั้งนี้ การฟ้องร้องดังกล่าวสืบมาจากบริษัทตกลงทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด ให้กับนายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ในราคา 105 ล้านบาท แต่ได้มีการคัดค้านเกิดขึ้นทำให้บริษัทไม่สามารถขายหุ้นดังกล่าวตามสัญญาได้
โดยนายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ได้อ้างสิทธิตามสัญญาซื้อขายหุ้นว่าได้ชำระมัดจำแล้ว จึงฟ้องเรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหาย พร้อมค่าขาดประโยชน์รวมดอกเบี้ย เป็นเงินจำนวน 345 ล้านบาท และใช้เป็นเหตุในการยื่นฟ้องคดีล้มละลายจนท้ายสุดบริษัทถูกศาลฯ สั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ขณะที่มูลหนี้ 3.60 พันล้านบาท นั้น เป็นมูลหนี้ที่บริษัทแจ้งว่าถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายรวมจากเงินมัดจำซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน
อนึ่ง POLAR ขณะนี้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทที่เข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์หลังไม่นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งล่าช้าเป็นเวลาเกินกว่า 180 วัน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า ส่วนของผู้ถือหุ้นของ POLAR ณ งบปี 59 สิ้นสุด 31 ธ.ค.2559 มีอยู่ทั้งหมด 4.58 พันล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 5.04 พันล้านบาท ขณะที่มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 53.02 ล้านบาท ทั้งหนี้บริษัทมีหนี้สินรวมที่ยังไม่รวมกับหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลายเพียง 464.95 ล้านบาท