ลุ้น PTTEP ชนะศึกชิงแหล่งเอราวัณ-บงกช ดันราคาหุ้นทะยานแตะ 162 บ.

3 โบรกฯ ประสานเสียง PTTEP ตัวเต็งชนะศึกชิงแหล่งเอราวัณ-บงกช คาดดันราคาหุ้นทะยานแตะ 162 บ.


สืบเนื่องจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) แหล่งก๊าซธรรมชาติ บงกช และ เอราวัณ ขณะที่กระทรวงพลังงานจะออก TOR เชิญชวนผู้สนใจเข้าประมูล ในวันนี้ 24 เม.ย.61

ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมความพร้อมการดำเนินการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 พื้นที่ประมาณ 4,501 ตารางกิโลเมตร และ G2/61 พื้นที่ประมาณ 3,247 ตารางกิโลเมตร ภายใต้ระบบ PSC ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดขั้นตอนและเวลาการประมูล 4 ขั้นตอน สรุปได้ ดังนี้

  1. การออกประกาศเชิญชวนและพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมกำหนด และเนื่องจากพื้นที่ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิ ทั้ง 2 แปลง เป็นแหล่งที่รองรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ผู้ขอรับสิทธิในฐานะผู้ดำเนินงานจึงต้องยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยต้องแสดงข้อมูลการถือครองหุ้นในกิจการ ระหว่างปี 5960 รวมถึงจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินงานการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลตามที่กำหนดในเอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล

โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการประมูลผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.61 เป็นต้นไป จากนั้นสามารถยื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 4 พ.ค.61 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พ.ค.61 ซึ่งจะแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 28 พ.ค.61

  1. การเข้าถึงและการศึกษาข้อมูล ผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ตามรายชื่อที่ได้ประกาศ สามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูลในระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.61 จากนั้นสามารถเข้าศึกษาข้อมูลในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.-21 ก.ย.61
  2. การยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จัดทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ระบบ PSC ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในวันที่ 25 ก.ย.61
  3. การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะดำเนินการประกาศผลผู้ที่ชนะการประมูล และได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลต่อไป

ทั้งนี้ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 23 เม.ย.61 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) แหล่งก๊าซธรรมชาติ บงกช และ เอราวัณ ขณะที่กระทรวงพลังงานจะออก TOR เชิญชวนผู้สนใจเข้าประมูล ในวันนี้ นับว่าเป็นบวกต่อ Sentiment การลงทุน PTTEP

โดยหากชนะการประมูลจะส่งผลบวกต่อแนวโน้มของผลการดำเนินงานในระยะยาว ซึ่งมีโอกาสสูงที่ PTTEP จะชนะการประมูลเนื่องจากเป็นเจ้าของสัมปทานเดิมร่วมกับเชฟรอน ทำให้มีข้อมูลและต้นทุนดำเนินงานต่ำกว่าผู้ผลิตรายอื่น

ส่วน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า รัฐเปิด TOR แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะครบสัญญาสัมปทานเดิม 2 แห่ง คือ แหล่งเอราวัณ ผลิตขั้นต่ำวันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 10 ปี  จากปัจจุบันผู้ผลิต 3 รายคือ CHEVRON, MITSUI OIL Exploration และ PTTEP  ถือหุ้น 71.25%, 23.75% และ 5% ตามลำดับ โดยมี CHEVRON  โดยมี PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะครบสัญญาสัมปทาน  23 เม.ย. 65)

ส่วนแหล่งบงกช ให้ผลิตขั้นต่ำวันละ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 10 ปี จากผู้ผลิตปัจจุบัน 2 รายคือ  PTTEP และ TOTAL ถือหุ้น 66.67%  และ 33.33% ตามลำดับ โดยมี PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะครบสัญญาสัมปทานสัญญาแรก  23 เม.ย. 65 และสัญญาที่ 2สิ้นสุด 7 มี.ค.66)

สำหรับกรอบเวลาหลังจากนี้คือ จะปิดซองประมูล ปลายเดือนพ.ค.61 และ  พิจารณาระหว่าง มิ.ย.-ก.ค.61 และจะทราบผลผู้ชนะการประมูลในช่ว ธ.ค.61หลักเกณฑ์ที่รัฐจะใช้พิจารณาคือ  ส่วนแบ่งกำไรแก่รัฐ ต้องไม่ต่ำกว่า 50%  จากเดิม จ่ายภาษีปิโตรเลียมให้กับภาครัฐ(Loyalty)

ทั้งนี้คาดว่าผู้ชนะการประมูลรอบใหม่ จะต้องเป็นผู้ที่เสนอประโยชน์ให้แก่ภาครัฐมากที่สุด  และน่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมคือ PTTEP ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ, บุคลากรและประสบการณ์ที่มีมานานในแหล่งดังกล่าว

โดยหาก PTTEP ชนะการประมูลคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าหุ้นราว 25 บาทต่อหุ้น จะทำให้ มูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2561 (อิง DCF)ของหุ้น PTTEP จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 162 บาทต่อหุ้น

ขณะเดียวกัน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สนพ. ได้ตกลงในร่าง ToR และเตรียมการประมูลโครงการบงกชและเอราวัณ โดยการประมูลจะเริ่มหลังจากที่ ครม.อนุมัติ ToR (ภายในวันที่ 24 เม.ย.) คาดว่าจะรู้ผลประการประมูลภายในสิ้นปี 61 ซึ่งเป็นไปตามเป้าของภาครัฐ แต่เร็วกว่าที่คาด

ทั้งนี้จากข้อตกลงผู้ชนะการประมูลจะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ส่วนใหญ่จากการขุดก๊าซธรรมชาติให้ภาครัฐ และต้องมีการจ้างงานคนไทยไม่น้อยกว่า 80% และ 90% ในช่วง 5 ปีแรก และรักษากำลังการผลิตให้ไม่ต่ำกว่า 700 mmscfd (ปัจจุบัน 800 mmscfd) สำหรับบงกช และ 800 mmscfd สำหรับโครงการเอราวัณ (ปัจจุบัน 900 mmscfd)

โดยมั่นใจว่า PTTEP จะชนะในโครงการบงกช และเชื่อว่า PTTEP จะประหยัดต้นทุนของโครงการบงกชและเอราวัณ จากการแชร์อาคารที่ใช้ดำเนินงาน และมีความชำนาญในพื้นที่

นอกจากนี้เงื่อนไขในการประมูลยังเข้าข้าง PTTEP จากทั้งประเด็นด้านแรงงาน และระยะเวลาในการเตรียมตัวผลิตที่ต่ำ ในขณะที่แหล่งเอราวัณมีความง่ายในการดำเนินงานมากกว่า และ PTTEP อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในตะวันออกกลางในการประมูลโครงการเอราวัณ

ด้านราคาหุ้น PTTEP ปิดตลาดวันนี้ ( 24 เม.ย.) อยู่ที่ 138 บาท บวก 3.50 บาท หรือ 2.60% สูงสุด 139.50 บาท ต่ำสุด 135 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.96 พันล้านบาท

Back to top button