สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 เม.ย. 61
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีนั้น จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงแคทเธอร์พิลลาร์ และล็อคฮีด มาร์ติน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,024.13 จุด ร่วงลง 424.56 จุด หรือ -1.74% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,634.56 จุด ลดลง 35.73 จุด หรือ -1.34% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,007.35 จุด ลดลง 121.25 จุด หรือ -1.70%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีนั้น อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนเม.ย.
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.02% ปิดที่ 383.11 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,550.82 จุด ลดลง 21.57 จุด หรือ -0.17% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,444.16 จุด เพิ่มขึ้น 5.61 จุด หรือ +0.10% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,425.40 จุด เพิ่มขึ้น 26.53 จุด หรือ +0.36%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรลในระหว่างวัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ว่า บริษัททาเคดะ ฟาร์มาซูติคัล ยังคงเดินหน้าเสนอซื้อกิจการของไชร์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของยุโรป
ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,425.40 จุด เพิ่มขึ้น 26.53 จุด หรือ +0.36%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากสัญญาทองคำร่วงลงติดต่อกัน 3 วันทำการก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความกังวลที่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% เมื่อคืนนี้ อาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 9 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1,333 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 11.6 เซนต์ หรือ 0.70% ปิดที่ 16.703 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 12.6 ดอลลาร์ หรือ 1.37% ปิดที่ 935 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 7.90 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 971.65 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันเพื่อทำกำไร ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 94 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 67.70 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 85 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 73.86 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งทะลุระดับ 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค.2557 ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่ที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมี.ค.
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.69 เยน จากระดับ 108.64 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9787 ฟรังก์ จากระดับ 0.9785 ฟรังก์
ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.7598 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7603 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2237 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2206 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3972 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3936 ดอลลาร์