BTS เจรจา PTT ร่วมพันธมิตรชิงรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

BTS เจรจา PTT ร่วมพันธมิตรชิงรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา)


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทย่อยของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ  BTS เปิดเผยว่า กลุ่ม BSR ประกอบด้วย BTS (ถือหุ้นใหญ่ 75%) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH จะเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ด อนเมือง-อู่ตะเภา)

พร้อมกันนั้น กลุ่ม BSR ยังเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อให้เข้ามาร่วม เนื่องจาก ปตท.มีความชำนาญในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีบุคคลากรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านวิศวกร อีกทั้งยังได้เจรจากับบริษัททั้งไทย และต่างประเทศมากกว่า 2 ราย ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมประมูลโครงการนี้ เนื่องจากใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูเงื่อนไขการเข้าประมูล (TOR) เสียก่อน และน่าจะเจรจาเสร็จเร็วก่อนที่จะยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูล คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดขายเอกสารประกวดราคาในเดือน พ.ค.นี้

“เรากำลังคุยกับ ปตท.ซึ่งเขาก็ยังไม่ตกลง ปตท.เขาก็เป็นเจ้าพ่อภาคตะวันออกอยู่แล้ว และยังคุยกับหลายรายทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนที่ใครจะเป็น lead ก็ต้องมา TOR ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ ยังบอกไม่ได้ว่าใครเป็น Lead ถ้า ปตท.เข้ามาร่วมเขาก็เป็นบริษัทใหญ่” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่ม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม CK ซึ่งมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นธุรกิจเดินรถไฟฟ้า จะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) แต่เนื่องจากแพกเกจการประมูลในโครงการนี้มีทั้งเรื่องการเดินรถ งานก่อสร้างและการบริหารที่ดินซึ่งคงยากที่จะมีผู้ประกอบการรายเดียวทำได้เองหมด ประกอบกับต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมมือด้วยกัน ซึ่งทางกลุ่ม CK ได้เจรจากับบริษัทพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม ต้องเห็น TOR ออกมาเสียก่อนว่ารายละเอียดกำหนดอย่างไรบ้าง และคาดว่าคงใช้เวลาราว 1-2 เดือนที่จะรวมกลุ่มเข้ายื่นประมูล หรือพิจารณาดูว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมประมูลโครงการนี้หรือไม่

อนึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติ (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม.ซึ่งถือเป็นแฟลกชิพของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของ EEC เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย ครม.อนุมัติให้เปิดการประมูลแบบ PPP Net Cost โดยอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (26 เม.ย.) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบแนวคิดการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตัวแทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารยูโอบี พร้อมด้วยบริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

อีกทั้ง บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ เอฟเอเอส จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมระดมสมองเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของ รฟท.

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดตั้งองค์กรที่เข้าร่วมประชุมระดมสมองในครั้งนี้ เสนอกรอบแนวคิดการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง ภายในวันที่ 25 พ.ค.61

Back to top button