คสช.เปิดทางสว่าง! กลุ่มทีวีดิจิทัล

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา คสช.ได้ข้อสรุปแนวทางเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่ยังมีผลขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เปิดดำเนินงานจากการเปลี่ยนแปลงการออกรายการโทรทัศน์จากระบบ “อะนาล็อก” ให้เป็นระบบ “ทีวีดิจิทัล”


รายงานพิเศษ

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา คสช.ได้ข้อสรุปแนวทางเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่ยังมีผลขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เปิดดำเนินงานจากการเปลี่ยนแปลงการออกรายการโทรทัศน์จากระบบ “อะนาล็อก” ให้เป็นระบบ “ทีวีดิจิทัล”

จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ได้มีการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในเดือนธันวาคม 2556 หลังจากนั้นจึงมีช่องรายการทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นในช่วงต่อมาถึงปัจจุบัน…แต่การทำรายการทีวิดิจิทัลไม่ได้เรียบง่ายตามที่หลายคนคิด เพราะบางช่องกลับไปไม่ถึงฝันก็ต้องขอยกเลิกใบอนุญาต และนำไปสู่การประกาศปิดตัวในที่สุด…

เนื่องจากวงการ “ทีวีดิจิทัล” เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ เป็นเรื่องของการที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่ราคาสูงมาก และต้องเผชิญกับมรสุมทั้งพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปรับสื่อออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งการแข่งขันกันในทีวีดิจิทัลก็สูง

เหตุดังกล่าวสร้างความอกสั่นขวัญหาย พร้อมกับความสั่นเครือในวงการทีวีดิจิทัลมาตลอด

พิษรายการทีวีดิจิทัลที่สร้างความเจ็บปวดมาโดยตลอด…เนื่องจากบางบริษัทต้องแบกรับภาระในส่วนของผลประกอบการที่ขาดทุน เช่น AMARIN, NEWS, GRAMMY, MCOT และ NMG (รายละเอียดดูจากตารางประกอบ) ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการบางรายจะไม่สามารถชำระค่าใบอนุญาตที่จะครบกำหนดครั้งต่อไปในเดือน พ.ค. 2561 ได้นั้น

ทาง คสช.จึงมีข้อสรุปแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิทัล ได้ 3 แนวทาง คือ 1)มาตรการพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เป็นเวลา 3 งวด (งวดการจ่ายปี 2561, 2562 และ 2563) โดยผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องยื่นขอกับคณะกรรมการ กสทช. ภายใน 30 วัน โดยยังต้องจ่ายเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยตามอัตราที่ ธปท. กำหนด (ปีละ 1.5%)

2)กสทช.จะสนับสนุนเรื่องโครงข่ายภาคพื้นดิน โดยการช่วยชำระค่าโครงข่าย (MUX) 50% เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ คสช. ออกคำสั่ง และ 3)เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถถ่ายโอนใบอนุญาตให้ผู้ที่สนใจได้ ทั้งนี้ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 และร่างรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว

ดังนั้นแนวทางการยืดเวลาชำระค่าใบอนุญาตออกไปถือว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจนี้ เพราะจะทำให้แต่ละช่องมีงบฯลงทุนสำหรับการพัฒนาคอนเทนต์เพิ่ม เมื่อคอนเทนต์ดี ลูกค้า (สินค้าและมีเดียเอเยนซี่) ก็พร้อมจะซื้อโฆษณา อีกทั้งยังทำให้แต่ละช่องมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะมีเงินหมุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากแต่ละสถานียังมีค่าใช่จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเช่าโครงข่าย ค่าบุคลากร เป็นต้น

ในขณะที่บล.เออีซี มองมาตรการข้างต้นเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มสื่อซึ่งดำเนินธุรกิจดิจิทัล โดยสูงสุด คือ  บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS, บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO และ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK

 ทั้งนี้คาด บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ RS จะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากบริษัทมีแผนจะขอใช้สิทธิรับการช่วยเหลือจากทั้ง 2 มาตรการ (ข้อ 1 และ 2) เพราะเดิมบริษัทมีแผนจะกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระค่าใบอนุญาตในรอบ พ.ค.นี้ ราว 207.5 ล้านบาท ซึ่งมีดอกเบี้ยราวปีละ 4% สูงกว่าดอกเบี้ยตามประกาศที่ปีละ 1.5% คิดเป็น Financial cost saving ราวปีละ 5.2 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับค่าสนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงข่าย (MUX) อีกปีละ 27.6 ล้านบาทเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ช่วง 2 ปีข้างหน้าคาด RS จะมีกำไรสุทธิโตเฉลี่ยปีละ 79.9% (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดโตเฉลี่ยปีละ 77.7%)

ส่วน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK และ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO คาดจะขอใช้สิทธิรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโครงข่ายเพียงมาตรการเดียว เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าใบอนุญาตได้โดยไม่ก่อหนี้เพิ่ม ทำให้ช่วง 2 ปีข้างหน้าคาด WORK และ MONO จะมีกำไรสุทธิโตเฉลี่ยปีละ 265.8% (จากเดิมที่คาดโตเฉลี่ยปีละ 261.3%) และ 24.3% (จากเดิมที่คาดโตเฉลี่ยปีละ 23.3%) ตามลำดับ

ส่วนน้ำหนักลงทุนกลุ่มสื่อ “มากกว่าตลาด” โดยแนะนำ RS เป็น Top pick จากทิศทางการเติบโตของกำไรที่โดดเด่น และราคาหุ้นปัจจุบันยังมีอัพไซด์ 25.7% จากมูลค่าพื้นฐานใหม่ปี 2561 ที่ 35.50 บาท อีกทั้งยังคงแนะนำ “ซื้อ” MONO เนื่องจากราคาหุ้นยังมีอัพไซด์น่าสนใจที่ 20.9% จากมูลค่าพื้นฐานที่ 5.10 บาท

ขณะที่ช่วงสั้นปรับลดคำแนะนำจากเดิม “ซื้อ” เป็น “ถือ” สำหรับ WORK โดยแม้ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์ถึง 44.2% จากมูลค่าพื้นฐานที่ 97 บาท แต่ยังอยู่ระหว่างติดตามความชัดเจนของการปรับผังรายการใหม่ เพื่อชิง Rating ที่เสียไปในช่วงไตรมาส 1/2561 กลับคืนมา

สำหรับปัจจัยเยียวยากลุ่มทีวีดิจิทัลจะสามารถแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อก้าวสู่การเติบโตในอนาคต!

Back to top button