พาราสาวะถีอรชุน

ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังสาละวนกุมขมับกับบรรดาข้อเสนอจำนวนมากทั้งจากครม.และอื่นๆ จนถึงขนาดที่มีคนค่อนขอดว่า น่าจะยกร่างกันใหม่ทั้งฉบับง่ายกว่ากันเยอะ แต่ดูเหมือนว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และชาวคณะยังคงทำใจดีสู้เสือ พยายามที่จะชี้แจงเป็นระยะถึงความพร้อมในการรับฟังและนำไปสู่การปรับแก้


ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังสาละวนกุมขมับกับบรรดาข้อเสนอจำนวนมากทั้งจากครม.และอื่นๆ จนถึงขนาดที่มีคนค่อนขอดว่า น่าจะยกร่างกันใหม่ทั้งฉบับง่ายกว่ากันเยอะ แต่ดูเหมือนว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และชาวคณะยังคงทำใจดีสู้เสือ พยายามที่จะชี้แจงเป็นระยะถึงความพร้อมในการรับฟังและนำไปสู่การปรับแก้

แต่อีกทางเริ่มมีการพูดถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อที่จะไม่ได้ทำให้คสช.ลำบากใจหรือกลายเป็นผู้ถูกพาดพิงถึงในกรณีที่จะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะอย่างกว้างขวางก่อนที่จะให้ประชาชนลงประชามติ โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านไม่เอาด้วยกับการรัฐประหาร

วันนี้จึงมีข้อเสนอในทำนองนี้ทยอยออกมา ล่าสุด ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และประธานองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ได้เขียนบทความเรื่องอนาคตของ (ร่าง) รัฐธรรมนูญไทย โดยชี้ให้เห็นว่า อนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับมหาปราชญ์นี้มีโอกาสแท้งก่อนคลอดถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลที่ว่าหากคสช.ไม่อยากถูกกระทบกระทั่งจากการลงประชามติก็บีบให้สปช.กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

หากสปช.ยังดื้อแพ่งผ่านร่างรัฐธรรมนูญออกมา คสช.ต้องไประดมสรรพกำลังขนาดหนักพร้อมกับใช้ยุทธวิธีทั้งใต้ดินบนดินเพื่อที่จะเอาชนะการลงประชามติให้ได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือความวุ่นวายอย่างหนักและจะเอาไม่อยู่ แต่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติโดยการตั้งสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งหากประชามติไม่ผ่าน ก็จะวิน-วินด้วยกันเกือบทุกฝ่าย

แนวทางการตั้งสสร.ของอาจารย์ชำนาญนั้น เป็นข้อเสนอในกรณีที่ประชามติไม่ผ่านโดยไม่ต้องมีการตั้งสปช.หรือคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ขึ้นมาอีก แต่จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพิ่มประเด็นนี้เข้าไปนอกเหนือจากประเด็นของการทำประชามติ ไม่แน่ใจว่าถ้าจะให้เร็วสามารถใช้มาตรา 44 เข้ามาเป็นตัวช่วยได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวนี้เชื่อว่าคสช.และคณะที่ปรึกษา ก็น่าจะมีกึ๋นพอที่จะวิเคราะห์และหาทางออกไว้แล้วเหมือนกัน สำหรับอาจารย์ชำนาญที่แสดงความเห็นในประเด็นนี้นั้น ก่อนหน้าก็เคยวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว โดยมองว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์และจะมีอายุสั้นที่สุด

เหตุผลที่นำมาสนับสนุนคือ เพราะไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้จะมีการจัดเวทีในต่างจังหวัดแต่ก็ไม่ได้รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มากำหนดบังคับให้ประชาชนต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ และอ้างเรื่องสภาพลเมืองขึ้นมาเพื่อหลอกล่อมากกว่า การที่จะให้พลเมืองเป็นใหญ่ แต่ประชาชนไม่มีอำนาจที่จะเลือกตั้งโดยตรง นายกฯ ก็จะเอาคนนอกมาเป็นได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนความอัปลักษณ์

ด้วยเหตุนี้นอกจากจะมีโจทย์ใหญ่รอให้คสช.ตัดสินใจแล้ว ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า ข้อเสนอที่เป็นหัวใจหลักในแต่ละประเด็นนั้นสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหลายๆ เรื่องหากแตะแล้วก็จะผิดไปจากธงที่ตั้งไว้ (ซึ่งบางเรื่องไม่น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่แป๊ะต้องการ)

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมา หากอยากจะให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตย ดอกเตอร์ปื๊ดคงต้องรับเอาความเห็นของ อูลริก คาร์เพน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ที่มาบรรยายพิเศษในหัวข้อบทบาทของรัฐธรรมนูญในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันก่อน

โดย อูลริก คาร์เพน กล่าวว่า สิ่งที่ควรเขียนในรัฐธรรมนูญหากจะยึดตามรูปแบบเยอรมันคือ มีบทบัญญัติเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมากนัก รวมถึงควรให้อำนาจประชาชนสามารถออกมาต่อต้านผู้จะล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งในเยอรมนีการใช้อำนาจทางการทหาร รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

ไหนๆ ก็ไปยกเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของเยอรมันมาแล้ว ทำไมบวรศักดิ์และชาวคณะไม่เห็นชี้แจงประเด็นนี้ต่อประชาชน ที่รัฐธรรมนูญของเขาไม่ให้ทหารเข้ามามีบทบาท หากกล้าที่จะปฏิรูปประเทศตามข้อกล่าวอ้างว่าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็น่าที่จะกล้าบัญญัติไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองเพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไร้การปฏิวัติรัฐประหาร อันเป็นตัวถ่วงความเจริญของประชาธิปไตยในบ้านเราเสียที

เหมือนอย่างที่ ภัควดี วีระภาศพงษ์ นักแปลชื่อดังกล่าวในงาน 75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันก่อน ประชาชนไทยอยากได้กองทัพที่สามารถพึ่งพิงได้ในยามทุกข์เข็ญ มิใช่กองทัพที่สร้างความทุกข์เข็ญให้แก่ประชาชน กองทัพที่สง่าภาคภูมิด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง มิใช่กองทัพที่กระทำการลับๆ ล่อๆ เพราะหวาดกลัวเพื่อนร่วมชาติ  กองทัพที่รักษาสัตย์เพื่อชาติ มิใช่กองทัพที่ตระบัดสัตย์เพื่ออำนาจของคนไม่กี่คน

นี่แค่วงเล็กๆ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์มิติทางการเมืองแค่บางมุม คงไม่ต้องนึกภาพต่อไปว่าหากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะต้องผ่อนปรนให้เกิดเวทีแสดงความคิดเห็น ผู้มีอำนาจจะถูกยำเละขนาดไหน ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกปื๊ดจะถูกคว่ำจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะมีการหยอดคำหวานว่าสปช.ย่อมาจากเสียงประชาชนก็ตาม เพราะท้ายที่สุดก็เป็นเพียงประชาชนแค่ส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคณะรัฐประหารและองคาพยพที่เกิดจากการแต่งตั้งของอำนาจจากการรัฐประหารเท่านั้นเอง

Back to top button