ธปท.เผยงบฯ ปี 60 ขาดทุนสะสมเฉียด 9 แสนลบ. เจอพิษค่าเงินผันผวนฉุดเงินสำรองลดฮวบ

ธปท.เปิดงบฯ ปี 60 ขาดทุน 7.1 หมื่นลบ. เหตุเจอพิษค่าเงินผันผวนฉุดเงินสำรองลดฮวบ 2.49 แสนลบ. ดันขาดทุนสะสมพุ่งแตะ 8.8 แสนลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลในส่วนทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร ที่แสดงอยู่ในรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 12 เม.ย. 2561 มีตัวเลขผลขาดทุนสะสมของ ธปท. ในปี 2560 อยู่ที่ 879,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ ขาดทุนสะสมจำนวน 807,603 ล้านบาท โดยแยกเป็นการขาดทุนประจำงวด ปี 2560 อยู่ที่ 71,816 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ผลการดำเนินงาน ธปท.งวดปี 2560 ที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้จะระบุ ยอดขาดทุนสะสม ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 807,603 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากผลขาดทุนประจำงวดที่เพิ่มขึ้นมาอีก 71,816 ล้านบาทใน ปี 2560 จะถูกนำไปบันทึกกำไรขาดทุนย้อนหลังในปีถัดไป

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนสูงกว่า 249,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.9 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งหาก ดูเงินสำรองในรูปเงินบาทจะพบว่า มูลค่าลดลงไปมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลา เช่น ถ้าอัตรา แลกเปลี่ยน “อ่อนค่า” ลง 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินสำรองก็จะ “เพิ่มขึ้น” ราว 249,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็น “กำไร” จากการตีราคา

ทั้งนี้ในทางกลับกัน หากอัตราแลกเปลี่ยน “แข็งค่า” ขึ้น 1 บาท ก็จะทำให้ดูเหมือนว่าเงินสำรอง “ลดลง” ทันที 249,000 ล้านบาท ผลทำให้ ธปท. “ขาดทุน” จากการตีราคา ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงเงินสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินสำรองยังอยู่ในปริมาณเท่าเดิม

“เศรษฐกิจดีขึ้น ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ธปท.ก็มักจะขาดทุนจากการตีราคาของเงินสำรอง ในทางตรงกันข้าม เวลาที่เศรษฐกิจอ่อนแอ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ธปท.ก็จะมีกำไรจากการตีราคา จึงอยากเรียนว่า ตัวเลขผลกำไรขาดทุน ธปท.ไม่ได้สำคัญ ที่สำคัญคือมูลค่าเงินสำรองในรูปเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่จริง เพื่อใช้เป็นกันชนรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก” นายวิรไทกล่าว

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลง น่าจะทำให้ ธปท.มีผลขาดทุนน้อยลงได้ เพราะ ธปท.มีต้นทุน ดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง ซึ่งปัจจุบัน ธปท.มีภาระ ในการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับธนาคารพาณิชย์ที่นำสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นหาก ธปท.ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต้นทุน ธปท.ก็จะลดลง ทำให้ ธปท.สามารถประหยัดเงิน และลดผลขาดทุนของ ธปท.ได้

“การทำนโยบายการเงินก็สามารถประหยัดได้ หากลดดอกเบี้ย ต้นทุนของ ธปท.ก็ลด แต่ตอนนี้ลด (ดอกเบี้ย) ไม่ได้แล้ว ภาวะไม่ใช่แล้ว สถานการณ์ในตอนนี้อยู่ที่ว่า จะอยู่เฉย ๆ กับจะขึ้นดอกเบี้ย เท่านั้น หาก (ดอกเบี้ย) ลงเมื่อปีก่อน ธปท.ก็จะประหยัดเงิน แล้วค่อยขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ก็จะไม่มีใครว่า ถ้าดูทำไมสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เขาถึงกดดอกเบี้ยไปที่ 0% เพราะเขาต้องการต้นทุนที่ถูกมาใช้ จึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ แต่เราไม่ใช่ เราคิดว่าขาดทุนก็ไม่มีใครว่า แต่ไม่ใช่” นายอภิศักดิ์กล่าว

Back to top button