12 หุ้นราคาแรลลี่ยาว! โชว์ 4 เดือนนลท.รับทรัพย์โกยรีเทิร์นเกิน 30%

12 หุ้นราคาแรลลี่ยาว! โชว์ 4 เดือนนลท.รับทรัพย์โกยรีเทิร์นเกิน 30% นำโดย EMC,NPP, KTC,  TRITN, AEONTS, SOLAR, LRH, HUMAN, AYUD, PTTEP, SMTและUTP


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ใน SET ช่วง 4 เดือนโดยเทียบราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 29 ธ.ค.60-30 เม.ย.61 สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 1.29% โดยเทียบจากดัชนียืนอยู่ที่ระดับ 1753.71 จุด (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1,780.11 จุด ( 30 เม.ย.61) บวกไป 26.40 จุด

เนื่องจากช่วงดังกล่าวมีปัจจัยกดดัน อาทิ ความไม่แน่นอนต่อปัจจัยการเมือง (โรดแมปการเลือกตั้ง) และกลุ่มธนาคารยังมีแรงกดดันต่อเนื่องจากนโยบายยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม ที่ธนาคารขนาดใหญ่ทยอยประกาศ รวมไปถึงภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีก กดดันราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและเป็นช่วงที่หุ้นประกาศจ่ายปันผล(XD)เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ไม่เพียงเท่านั้นนักลงทุนทยอยปิดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่ช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งนักลงทุนขายลดความเสี่ยงสถานการณ์ในซีเรียทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1800 จุด

อย่างไรก็ตามครั้งนี้จะขอเลือกนำเสนอราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นและเอาชนะภาวะตลาดฯได้อย่างสดใสเกิน 30% เป็นหลัก โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 12 ตัว คือ EMC,NPP, KTC,  TRITN, AEONTS, SOLAR, LRH, HUMAN, AYUD, PTTEP, SMTและUTP โดยการนำเสนอข้อมูลประกอบการปรับตัวขึ้นแรงจะขอเลือกนำเสนอเพียง 5 ตัวแรกของตารางดังนี้

อันดับ 1 บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC  ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 111.11% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.09 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.19 บาท (30 เม.ย.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก อีกทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้ (14 มี.ค.) อนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและเสนอขาย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1.52 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 8.43 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 6.75 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุนแบบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนไม่เกิน 2.53 พันล้านหุ้น ที่จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม

ส่วนหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 4.22 พันล้านหุ้น จะใช้รองรับการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) EMC-W6  ที่บริษัทจะออก EMC-W6 จำนวนไม่เกิน 4.22 พันล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย อายุไม่เกิน 5 ปี มีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.15 บาท

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะช่วยทำให้มีสภาพคล่องและมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับการขยายลงทุนในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาหุ้นในอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา นางสาวชินสิรี ลีนะบรรจง ผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาเก็บหุ้นเพิ่มยิ่งหนุนให้ราคาหุ้นวิ่งแรง

อันดับ 2 บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 101.37% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.73 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.47 บาท (30 เม.ย.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก และประเด็นเพิ่มทุน PP เสนอขาย Asia Alpha Equity Fund 1 ซึ่งเป็นกองทุนย่อยของ Asia Alpha Equity Master Fund ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ทำให้นักลงทุนมั่นใจและเข้ามาไล่ราคาหุ้นต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.61 บริษัทอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.06 พันล้านบาท จากเดิมที่ 1.66 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 400 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท เสนอขายหุ้นละ 0.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท จัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) คือ Asia Alpha Equity Fund 1 ซึ่งเป็นกองทุนย่อยของ Asia Alpha Equity Master Fund ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โดยมี Banjaran Asset Management Pte.Ltd. เป็นผู้จัดการกองทุน และเน้นการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เกษตรกรรม เภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการผลิตในภูมิภาคเอกเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นดังกล่าวต่อ Asia Alpha Equity Fund 1 แล้วจะทำให้ Asia Alpha Equity Fund 1 เข้ามาถือหุ้นคิดเป็น 24.9% ของทุนจดทะเบียน โดย Asia Alpha Equity Fund 1 จะไม่ส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ และ/หรือผู้บริหารของบริษัท ดังนั้น จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ขณะที่จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ห้ามขายหุ้น (silent period) โดยมีกำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดภายใน 1 ปี

ทั้งนี้บริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายกิจการ อีกทั้งยังมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดธุรกิจในอนาคตของบริษัท นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อและตราประทับของบริษัท โดยจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.เอ็นพีพี (ประเทศไทย)

 

อันดับ 3 บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 96.77% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 186.00 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 366.00 บาท (30 เม.ย.61) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรแผนงานบริษัทที่โดดเด่น บวกกับแนวโน้มผลงานปี 61 สดใส ขณะที่นักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายใหม่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวแรงและทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีปัจจัยบวกลุ้นเข้าคำนวณดัชนี MSCI Global Standard รอบใหม่ซึงจะรู้ผลใน 14 พ.ค.นี้ยิ่งทำให้ราคาพุ่งขึ้นแรง

 

อันดับ 4 บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TRITN ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 70% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 0.20 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.34 บาท (30 เม.ย.61) ราคาหุ้นปรับตัวแรงเนื่องจากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรแผนธุรกิจที่โดดเด่น

โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทเตรียมดำเนินการล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 311 ล้านบาท หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้อนุมัติให้นำส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 548 ล้านบาทมาใช้ได้ ซึ่งคาดว่าบริษัทจะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลได้ในปี 62

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของ TRITN ในปี 61 คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 38.81 ล้านบาท โดยได้รับผลดีจากการเติบโตของธุรกิจบริษัทย่อย คือ บมจ.สเตรกา (STREGA) เป็นหลัก ซึ่ง TRITN ถือหุ้นในสัดส่วน 84% และน่าจะส่งผลดีต่อรายได้ในปีนี้ที่น่าจะเติบโต 80% จากปีก่อนอยู่ที่ 969.75 ล้านบาท

การดำเนินงานของบริษัท STREGA ในปีนี้ ยังคงเข้าไปประมูลงานขุดเจาะในโครงการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานภาคเอกชนด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามงานโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น งานประเภทราง เป็นต้น มูลค่างานโครงการละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าภาครัฐจะเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะได้รับงานราว 10-15%

ปัจจุบัน STREGA มีงานในมือ (Backlog) ราว 3 พันล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาในปีนี้มากกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรสุทธิที่จะเติบโตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน STREGA ยังขยายการรับงานไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยมีความสนใจในภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมา คาดว่าใน 1-2 ปีจากนี้น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ส่วนธุรกิจให้เช่าป้ายโฆษณาหรือสื่อนอกบ้านของบริษัทย่อย คือ บมจ.สแพลช มีเดีย (SPLASH) คาดว่าปีนี้ยังคงสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน SPLASH มีป้ายโฆษณาทั้งสิ้น 70 ป้าย และมีอัตราการเช่าป้ายโฆษณาเฉลี่ย 60-70% ถือว่าใกล้เคียงกับภาพรวมอุตสาหกรรม

น.ส.หลุยส์ กล่าวถึงผลการดำเนินในไตรมาส 1/61 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 4/60 เป็นไปตามการเติบโตของทั้ง 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจสื่อโฆษณา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจของบริษัทย่อยที่มีอยู่จะเติบโตได้ดีขึ้น แต่บริษัทก็ยังคงมองหาการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ TRITN มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุน ส่วนแผนการนำ STREGA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณา เนื่องด้วยบริษัทฯ ต้องการทำให้บริษัทดังกล่าวมีการเติบโตในระดับที่ดีก่อน ทั้งรายได้และกำไรสุทธิ

 

อันดับ 5 บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 69.08% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 103.50 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 175.00 บาท (30 เม.ย.61) เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจพื้นฐานธุรกิจบวกกับนักวิเคราะห์ปรับราคาเป้าหมายทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 202 บาท/หุ้น โดยคาดว่าปี 60/61 และ 61/62 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากบริษัทค่อยๆปรับวงเงินเครดิตลูกค้าดี (Good customers) เพิ่มเป็น 1.5 เท่า จากเดิมที่ให้ 1.0 เท่าของเงินเดือน และกำหนดวงเงินเครดิตสูงสุดสำหรับลูกค้าใหม่ไว้ไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน ซึ่งการปรับนี้ช่วยให้ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยเติบโตมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/60 (สิ้นสุดส.ค.60)

อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยซบเซา คุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทาง AEONTS ก็ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อดูแลสถานะของบริษัทให้มั่นคง ยังผลให้ Yield และ ROE ต่ำลง แต่ระดับ NPL ratio ก็ต่ำที่ 2.2% ในสิ้นไตรมาส 3/60/61 (สิ้นสุดพ.ย.60) และเชื่อว่าจะทรงๆ ในระดับนี้ไปในปี 61/62 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น สำหรับ Coverage ratio อยู่ในระดับสูง ทำให้ไม่ต้องตั้งสำรองสูงกว่าเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9

พร้อมทั้งเศรษฐกิจที่ดีขึ้นหนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย จึงคาดว่าสินเชื่อรายย่อยบริษัทจะเติบโตได้มากขึ้นในปีนี้ และเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง โดยใช้ประสบการณ์ของ AEON มาเลเซียมาช่วย โดยวงเงินปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 3 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3.5-4.0% ต่อปี (Flat rate) สำหรับรถอายุไม่เกิน 5 ปี และอัตรา 9-10%

สำหรับรถที่อายุมากกว่า 5 ปี ขณะนี้มีดีลเลอร์ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท 50 แห่งในกรุงเทพ สำหรับลูกค้าเป้าหมายอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับลูกค้าบัตรเครดิต บริษัทตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองไว้ที่ 500-1,000 ล้านบาท

ด้านธุรกิจต่างประเทศจะทำรายได้ดีขึ้น ปัจจุบัน AEONTS ถือหุ้น 80% ในธุรกิจที่กัมพูชา (แต่จะลดเป็น 50% หลังจากมีการเพิ่มทุนในเดือนมี.ค.61 แต่ AEONTS ไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อเปิดทางให้ผู้ถือหุ้นอีกราย คือ AEON Financial Service (AFS) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านไอทีของไฟแนนซ์ได้ถือหุ้นเพิ่ม เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาธุรกิจต่อไป) และ 100% ที่เมียนมาร์ & ลาว ซึ่งธุรกิจทั้ง 3 ประเทศมีกำไร แต่ยังทำรายได้เป็นสัดส่วนน้อยเพียง 3% และทำกำไร 2% ของทั้งหมด บริษัทคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 10% ภายในปี 63 เพราะความต้องการใช้ไฟแนนซ์ของทั้ง 3 ประเทศเติบโตสูง

ทั้งนี้ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 60/61 และปี 61/62 ขึ้น 5% และ 11% ตามลำดับ โดยบริษัทคาดว่าการใช้จ่ายลูกค้าจะเติบโต 10% ในปี 60/61 ซึ่งไปชดเชยกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลงจาก 20% เป็น 18% ได้ ส่งผลให้กำไรปี 60/61-61/62 จะขยายตัว 16% และ 15% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หุ้น AEONTS ซื้อขายที่ P/E ปี 60/61 (สิ้นสุดก.พ.61) ต่ำเพียง 12.4 เท่า และ P/BV 2.3 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มไฟแนนซ์มาก สำหรับราคาพื้นฐาน 202 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 60/61 ที่ 2.9 เท่า และเทียบเท่ากับ P/E ที่ 15.8 เท่า (PEG 1.0 เท่า, CAGR ของ EPS ปี 60/61 & 61/62 ที่ 15.4%)

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button