ครูเสดร่วมสมัย?

ความรุนแรงจากการประท้วงการเปิดสถานทูตสหรัฐฯในเมืองเยรูซาเล็ม จนมีคนเสียชีวิตอย่างเป็นทางการแล้วทันทีอย่างต่ำ 52 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2,400 คนจากการที่ทางทหารอิสราเอลได้ใช้กระสุนจริง แก๊สน้ำตา และระเบิดไฟใส่กลุ่มผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ซึ่งกระจายตัวประท้วงตามรั้วติดกับประเทศอิสราเอลที่ฉนวนกาซา ซึ่งรัฐบาลขวาจัดของนายเนทันยาฮูบอกว่าเป็นการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ความรุนแรงจากการประท้วงการเปิดสถานทูตสหรัฐฯในเมืองเยรูซาเล็ม จนมีคนเสียชีวิตอย่างเป็นทางการแล้วทันทีอย่างต่ำ 52 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2,400 คนจากการที่ทางทหารอิสราเอลได้ใช้กระสุนจริง แก๊สน้ำตา และระเบิดไฟใส่กลุ่มผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ซึ่งกระจายตัวประท้วงตามรั้วติดกับประเทศอิสราเอลที่ฉนวนกาซา ซึ่งรัฐบาลขวาจัดของนายเนทันยาฮูบอกว่าเป็นการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน

การประท้วงดังกล่าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ชาวปาเลสไตน์จัดขึ้น เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเดินทางกลับสู่พื้นที่ที่ถูกอิสราเอลขับไล่ออกมาตั้งแต่ปี 1948 ซึ่งจะดำเนินเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยในวันเดียวกันนี้เป็นวันที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิสราเอลที่เดิมตั้งอยู่ในเมืองเทลอาวีฟ ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม หลังจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อเดือน ธันวาคมปี 2560 ว่ากรุงเยรูซาเล็มคือเมืองหลวงของอิสราเอล

ก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่คำประกาศย้ายสถานทูตจากเทลอาวีฟ มายังเมืองเยรูซาเล็ม เมื่อเดือนธันวาคม ทหารอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 90 คน และทำให้บาดเจ็บไปแล้วกว่า 10,500 คน ถ้ารวมครั้งล่าสุดด้วย มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วอย่างต่ำ 140 คน และบาดเจ็บมากกว่า 13,000 คนเข้าไปแล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำลายคำพูดของ โดนัลด์ ทรัมป์ที่ว่า “เป้าหมายการย้ายสถานทูต คือ สันติภาพ” ลงอย่างสิ้นเชิง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ เท่ากับเป็นการตอกย้ำเหตุการณ์ในอดีต ที่ย้อนหลังไปเมื่อ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 หรือเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันที่อิสราเอล (โดยการสนับสนุนของสหรัฐฯและอังกฤษ) ประกาศตัวเป็นประเทศเมื่อปี 1948 และเริ่มดำเนินการขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากถิ่นที่อยู่เดิมอย่างรุนแรงเป็นจำนวนราว 7 แสนคน จนบัดนี้ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 7 ล้านคน ต้องไร้ประเทศ โดยมีคนจำนวน 2.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของอิสราเอล อีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ทางทิศตะวันออกของอิสราเอล ทั้งสองพื้นที่ปัจจุบันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอยู่

มีการเปรียบเทียบว่า เมื่อใดที่อิสราเอลเปิดประเทศให้ชาวปาเลสไตน์กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ชาวยิวจะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศทันที

ความขัดแย้งอันยาวนานนับแต่ก่อตั้งอิสราเอลขึ้นมา เป็นมากกว่าความขัดแย้งคนยิว–ปาเลสไตน์ตามปกติ เป็นการต่อสู้ที่ถือว่าเป็น “ความขัดแย้งที่แก้ไขยากที่สุดของโลก”

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามว่า การดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอลตั้งแต่ 70 ปีก่อน ซึ่งไม่เคยมีความแตกต่างโดยพื้นฐานจากอาณาจักรครูเสดในช่วง 1 พันปีก่อน เพราะเป็นรัฐที่ก่อตั้งอย่างผิดธรรมชาติเนื่องจากเป็นรัฐที่สร้างขึ้นมาเป็นเป้าของความขัดแย้งแบบดันทุรัง ที่ต้องดำรงอยู่กับสงครามไม่รู้จบสิ้น

ที่ผ่านมา มหาอำนาจที่หนุนหลังการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอลโดยเฉพาะสหรัฐฯพยายามสร้าง กระบวนการสันติภาพระยะยาวและการปรองดองทั่วไปขึ้นมาขัดตาทัพ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ได้มีเจตนาอะไรอื่นเลย แต่ต้องการซื้อเวลาให้กับความเข้มแข็งของอิสราเอลเป็นสำคัญ

ประเด็นซ้ำซากบนเวทีเจรจารักษาสันติภาพจอมปลอม อาทิ การรับรองร่วมกัน เขตแดน ความมั่นคง สิทธิน้ำ การควบคุมเยรูซาเล็ม นิคมอิสราเอล เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของปาเลสไตน์ และการแก้ไขการอ้างสิทธิการเดินทางกลับสำหรับผู้ลี้ภัยของปาเลสไตน์ จึงไม่สามารถระงับความขัดแย้งที่รอปะทุเป็นความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยกองทหารอิสราเอลมากกว่า และที่สำคัญอิสราเอลยังเป็นชาติหนึ่งที่มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง โดยที่มหาอำนาจไม่เคยตั้งคำถามเลยแม้ครั้งเดียว

อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ นักคิดระบบโลกชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ระบุว่า รัฐบาลอิสราเอลทุกชุดมีเป้าหมายต้องการให้ชาติอาหรับและโลกยอมรับฐานะรัฐเอกราชของตนเองที่มีเจตนามุ่งมั่นสร้างสันติภาพ แต่พฤติกรรมอันยาวนาน ยืนยันว่าล้มเหลวมาตลอด เพราะเมื่อใดที่สันติภาพกับชาติเพื่อนบ้านเริ่มตั้งเค้า คนในชาติอิสราเอลจะเสียงแตกแล้วตามมาด้วยการล้มรัฐบาลแล้วก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่ “สายเหยี่ยว” กว่าเดิมเสมอ

สภาวะการเมืองภายในของอิสราเอล และการหนุนหลังอย่าหน้ามืดของสหรัฐฯ ทำให้ท่าทีของรัฐบาลอิสราเอลทุกชุดโดยเฉพาะหลังจากผ่านสงคราม 6 วันในปี ค.ศ. 1967 เป็นต้นมา ยืนกรานว่า หากอิสราเอลไม่ต้องการสูญพันธุ์เหมือนรัฐครูเสดในประวัติศาสตร์ จะต้องดำรงความเข้มแข็งทางทหารอย่างถึงที่สุด

สันติภาพของอิสราเอลจึงมีความหมายว่าดำรงความเหนือกว่าทางทหารเหนือชาติเพื่อนบ้านที่เกลียดชังเท่านั้น ไม่ใช่สันติภาพที่ปราศจากการถืออาวุธ

การยอมรับฐานะของเมืองเยรูซาเล็ม ด้วยการเปิดสถานทูต อาจจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์สำหรับรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการปะทุครั้งใหญ่ที่คาดเดายากว่าจะเป็นครูเสดครั้งใหม่หรือไม่

ชีวิตและความสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ไม่มีความหมายสำหรับนักยุทธศาสตร์ทางการเมืองมากนัก มันเป็นแค่สิ่งที่ต้องเกิดของเกมอำนาจเท่านั้นเอง

Back to top button