SME Bank ประเดิมร่วมทุนเอกชน 17 กิจการภายใต้โครงการ Trust Fund ในไตรมาส 2/58

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME Bank เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 2/58 ธนาคารจะดำเนินโครงการร่วมลงทุนภายใต้ SME Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก


นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME Bank เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 2/58 ธนาคารจะดำเนินโครงการร่วมลงทุนภายใต้ SME Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในกิจการเอสเอ็มอี จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก

ขณะนี้ธนาคารได้มีการคัดเลือก บลจ.เอ็มเอฟซี ทำหน้าที่เป็นทรัสตี(Trustee) กำลังจะนำ Trust Fund เข้าจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ส่วนธนาคารได้ทำการคัดเลือก SMEs ที่จะเข้าร่วมลงทุนได้แล้ว 17 กิจการ โดยเป็น SMEs ประเภทเริ่มก่อตั้ง, ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ 3-4 กิจการที่มีความพร้อมจะร่วมลงทุนได้เลย โดยหลังจากนี้ธนาคารจะนำเสนอรายละเอียดต่อคณะกรรมการกำกับการลงทุนของ Trust Fund ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานเพื่อพิจารณาต่อไป

ผลประกอบการของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 425 ล้านบาท โดยในเดือน เม.ย.มีกำไรสุทธิ 67 ล้านบาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยไตรมาสแรก แต่ภาพรวมยังเป็นไปตามแผนฟื้นฟู ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขผลประกอบการในเดือน เม.ย.ลดลงนั้น เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้น 145 ล้านบาท ธนาคารจึงจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากลูกหนี้ขนาดเล็กได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจากข้อมูลพบว่ายอดขายปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 20-30% ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้มีความยากลำบากมากขึ้น

ขณะที่สินเชื่อในช่วง 4 เดือนแรกนั้น มียอดเบิกจ่ายรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อรายใหม่วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท จำนวน 5.07 พันราย รวมถึงธนาคารยังได้เร่งดูแลลูกหนี้ที่มีอยู่เดิมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยการยืดเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้สามารถรักษาการจ้างงานลูกหนี้ได้ประมาณ 5 หมื่นคน

ในปี 58 ธนาคารยังมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 4 หมื่นล้านบาท และมีการตั้งเป้าหมายกำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่หนี้เสียก็จะพยายามควบคุมให้ได้มากที่สุด โดยการขายหนี้ ปรับโครงสร้าง และดูแลไม่ให้ลูกหนี้มีปัญหา แต่ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยการปรับปรุงวิธีการวิเคราะห์ศักยภาพของลูกหนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยจะแบ่งการวิเคราะห์ลูกหนี้ออกเป็นระดับ ได้แก่ 1-5 ล้านบาท, 5-15 ล้านบาท และตั้งแต่ 15 ล้านบาทว่าควรจะมีการดูแลอย่างไร รวมถึงติดตามดูแลลูกหนี้ให้ใช้เงินตรงตามวัตถุประสงค์ที่ให้กู้ยืมอย่างใกล้ชิด

Back to top button