ANAN ขึ้นเท่าไหร่…ลงเท่านั้น ?
ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาขึ้นมาได้ไม่น้อยทีเดียว กรณีนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ออกให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา “โครงการแอชตัน อโศก” ซึ่งเคยปรากฏก่อนหน้านี้ว่า ไม่สามารถโอนห้องให้ลูกค้าได้!
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาขึ้นมาได้ไม่น้อยทีเดียว กรณีนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ออกให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา “โครงการแอชตัน อโศก” ซึ่งเคยปรากฏก่อนหน้านี้ว่า ไม่สามารถโอนห้องให้ลูกค้าได้!
ANAN รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2561 ออกมาถือว่า คงยังปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อย จาก 140.35 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน มาเป็น 144.74 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่นายชานนท์ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า ทิศทางยอดโอนในช่วงไตรมาส 2/2561 จะดีกว่าช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากจะเริ่มโอนโครงการเจ้าปัญหานี้ได้ทัน พร้อมระบุไว้ชัดเจนว่า ได้มีการพูดคุยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรียบร้อยแล้ว
ย้อนความกลับไป เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ชาวบ้านพื้นที่ถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 เขตวัฒนา พร้อมด้วยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะแกนนำชาวบ้าน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กล่าวหา 1) ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา 2) ผอ.สำนักการโยธา กทม. 3) ผู้ว่าการ กทม. 4) ผู้ว่าฯ รฟม. และ 5) คณะกรรมการผู้ทำการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยการอนุญาต บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชียอโศก จำกัด (บริษัทย่อยของ ANAN) ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยแอชตัน อโศก
โดยการฟ้องร้องดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1) การฟ้องร้องขอให้ศาลคุ้มครอง เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณโครงการได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง และ 2) การฟ้องร้องกรณีใช้ที่ดินของรัฐผิดวัตถุประสงค์
สำหรับประเด็นที่ 1 นั้น ศาลฯไม่มีคำสั่งให้คุ้มครอง เนื่องจากการก่อสร้างเกือบจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนประเด็นที่ 2 ยังอยู่ระหว่างชั้นพิจารณาของศาลฯ โดยเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าน่าจะได้ผลสรุปภายใน 3-4 เดือนต่อจากนี้
การฟ้องร้องในประเด็นที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินรัฐผิดวัตถุประสงค์ถือว่า มีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ซึ่งตามท้องเรื่องก็มีการระบุว่า จากความกว้างของสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 ที่มีอยู่แค่ 3 เมตร นั่นหมายถึงหมดสิทธิ์ (ตามกฎหมาย) ที่ใครจะมาสร้างอาคารสูงบริเวณนั้นได้…ถือว่าจบข่าวไปตามระเบียบ
กระนั้น ยังมีผู้หวังดีเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า หากด้านสุขุมวิท 19 ติดข้อจำกัดเรื่องความกว้าง ก็หันไปเปิดทางเข้า-ออกมาทางถนนอโศกแทน…บราโว!!! ถือเป็นความชาญฉลาดในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไฮไลต์สำคัญมันอยู่ตรงนี้นี่แหละ!
เพราะการจะใช้ฝั่งถนนอโศกเป็นทางเข้า-ออกตามไอเดียบรรเจิดของผู้หวังดี (ไม่รู้ กทม. รฟม. หรือใครช่วยคิด หรือเผอิญคิดได้เอง) มีความจำเป็นต้องไปยืมที่ดินของ รฟม. ซึ่งใช้อำนาจรัฐเวนคืนมาจากประชาชนเพี่อดำเนินกิจการขนส่งมวลชน โดยที่ รฟม.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปค่าเช่าที่ดิน
ฉะนั้น การเวนคืนที่ดินมาเพื่อใช้ในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่กลับถูกนำมาเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการก่อสร้างอาคารสูงเพื่อจำหน่ายและแสวงผลกำไร จะถือเป็นการใช้ที่ดินรัฐผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ คงต้องรอคำพิพากษาศาลฯต่อไป
นี่คือที่มาของการที่ชาวบ้านซึ่งถูกรอนสิทธิ์ต้องไปดึงตัวนายศรีสุวรรณมาร่วม “ร้อง” และ ฟ้องคดีในครั้งนี้ และแน่นอนว่าการฟ้องร้องที่ยังค้างเติ่งอยู่นั้น แม้ไม่เกี่ยวข้องกับ ANAN โดยตรง แต่มีผลทำให้ กทม.ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้อาคารได้จนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ซึ่งนั่นคือสาเหตุว่า เหตุใด ANAN จึงต้องขอเลื่อนการส่งมอบห้องให้ลูกค้าออกไปอีก 1 ปี จากเส้นตายเดิมคือ วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา (2561)
ด้วยเหตุนี้ การที่นายชานนท์เปิดเผยข้อมูลว่า ได้มีการพูดคุยกับ กทม. และ รฟม. ไปเรียบร้อยแล้วนั้น พร้อมกับมั่นใจว่าจะสามารถโอนห้องชุดได้ทันภายในไตรมาส 2 นี้ จึงน่าจะถูกตั้งข้อสังเกตว่า นายชานนท์มีการพูดคุยอะไรกับทั้ง 2 หน่วยงานซึ่งปัจจุบันตกเป็นจำเลยในคดีนี้อยู่ โดยได้มีข้อสรุป หรือมีข้อเสนออะไรเพิ่มเติมเกิดขึ้นอย่างไร หรือไม่ ?
ขณะเดียวกัน แม้ว่าหนึ่งในจำเลยของคดีนี้ คือ กทม. จะยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการอนุมัติให้เข้าใช้อาคารได้อยู่ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า กรณีนี้จะสามารถเซ็นอนุมัติให้เข้าใช้อาคารได้เลยในเร็ว ๆ นี้ โดยไม่ต้องรอคำตัดสินของศาลฯอย่างนั้นหรือ ?
และผู้มีอำนาจในการอนุมัติครั้งนี้จะใจกล้าบ้าบิ่นถึงขั้นยอมแบกรับความเสี่ยงจากการดำเนินการใด ๆ ก่อนศาลฯพิพากษาเช่นนั้นเชียวหรือ ? ทั้งที่ปรากฏหลักฐานทางกายภาพว่า อาจมีการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น
การตั้งข้อสังเกตเหล่านี้เกิดขึ้นจาก พื้นฐานของความกังวลที่มีต่อนักลงทุนรายย่อยที่มักปรากฏเป็นผู้ไร้เดียงสาที่สุดเสมอมา โดยเฉพาะเมื่อราคาหุ้น ANAN ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เมื่อวันพฤหัสบดี (17 พ.ค.) ที่ผ่านมา หรือภายหลังทันทีที่นายชานนท์ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เสมือนหนึ่งสามารถทำนายอนาคตหรือคำตัดสินของศาลฯได้!
ราคาหุ้นวันนั้นปิดบวกไปถึง 11% ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากความคาดหวังว่า ANAN จะสามารถโอนห้องชุดให้ลูกค้าเพื่อบันทึกเป็นรายได้กลับมาได้ทันตามที่นายชานนท์ระบุไว้ และโดยเฉพาะเมื่อ “โครงการแอชตัน อโศก” แห่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญหลักในประมาณการรายได้ของนักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ นั่นก็ยิ่งทำให้ประเด็นนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
แต่อย่างว่า ประเด็นที่ดูคลุมเครือลักษณะนี้มักไม่ค่อยสร้างความชื่นอกชื่นใจได้อย่างจีรังยั่งยืนสักเท่าไหร่นัก เพราะราคาหุ้นในวันถัดมาคือวันศุกร์ (18 พ.ค.) ก็เริ่มที่จะอ่อนแรงลง และปิดติดลบไป 3% ในท้ายที่สุด แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าที่บวกขึ้นมาก่อนหน้านี้คือกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอาจจะตีความได้ว่าอีก 8% ที่เหลือคือความเสี่ยง (ดาวน์ไซด์) ในระยะสั้นก็เป็นได้
อิ อิ อิ
ป.ล. บริษัทอนันดาฯเป็นเพียงผู้ขอเช่าใช้ที่ดินจากการรอนสิทธิ์ของทาง รฟม. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ในการอนุมัติ แต่! อะไรดลใจให้ รฟม.คิดว่าสามารถนำที่ดินเพื่อใช้ในการสาธารณะไปให้เอกชนใช้ประโยชน์ได้ ยังคงเป็นปริศนาที่อาจจะถูกเฉลยในเร็ว ๆ นี้ หรืออาจจะถูกเก็บงำเป็นความลับตลอดชั่วกัลปาวสาน…
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสนใจว่าการที่นายชานนท์เปิดเผยข้อมูลที่มีสาระสำคัญจนทำให้เกิดความผันผวนเชิงบวกต่อราคาหุ้น ANAN ดังปรากฏแล้วนั้น ไม่ได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้โดยที่ยังไม่มีผลการตัดสินของศาลฯออกมาอย่างเป็นทางการจะถือว่าสุ่มเสี่ยงและเข้าข่ายเป็นการเปิดเผยข้อมูลเท็จ ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือไม่ ? คงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เพียงเท่านี้…อิ อิ