TRUE จำเป็นต้องถอย.!

สุดท้ายบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE (ในนามบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) ประกาศชัดว่า บริษัทได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลต่าง ๆ และพิจารณาว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยอ้างเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ…


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

สุดท้ายบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE (ในนามบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) ประกาศชัดว่า บริษัทได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลต่าง ๆ และพิจารณาว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยอ้างเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ…

  1. TRUE มีอยู่ถึง 55 MHz มากเพียงพอรองรับจำนวนลูกค้าที่เติบโตเพิ่มขึ้นได้กว่าเท่าตัว
  2. เงื่อนไขราคาและข้อกำหนดต่าง ๆ ไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลมีความได้เปรียบแต่อย่างใด
  3. TRUE ไม่เข้าประมูลเพียงเพื่อทำให้ราคาสูงเกินความเป็นจริงหรือสร้างภาระการเงินให้ผู้ชนะประมูล

เมื่อดูจากเหตุผลประกอบการตัดสินใจ “ไม่ร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz” ครั้งนี้ หากดูผิวเผินก็ดูสมเหตุสมผลที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมคลื่น 1800 MHz แต่ทว่าจากถ้อยแถลง 2 ข้อหลัง TRUE แฝงนัยยะที่แอบแฝงและเหน็บแนม ให้น่าฉุกคิดไม่น้อยทีเดียว

เริ่มจากเรื่องราคาเริ่มต้นที่ระดับ 37,457 ล้านบาททำให้ TRUE มีข้อจำกัดเรื่องแบงก์การันตีและงบลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลัง คสช.ไม่ตอบสนองมาตรการช่วยเหลือแบ่งจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย (ปี 2563) จำนวน 60,000 ล้านบาท ที่ TRUE เป็นตัวตั้งตัวตีเสนอขอแบ่งชำระเป็น 7 งวด ตลอดช่วงที่ผ่านมา

สอดคล้องกับท่าทีของ “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท TRUE ที่ระบุไว้ว่า “ถ้าภาครัฐไม่ให้ผ่อนชำระค่างวดใบอนุญาต อาจส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และโอกาสการเข้าประมูลคลื่นครั้งต่อไปพอสมควร เนื่องจากเราต้องสำรองเงินไว้ลงทุนบริษัทในเครืออื่น ๆ อีก แต่ถ้าช่วยเหลือ TRUE จะมีโอกาสการลงทุนได้ตามแผน”

ส่วนกรณีที่ TRUE ระบุว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อจะทำให้ราคาสูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง หรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลแต่อย่างใด ลึก ๆ แล้วกำลังส่งสัญญาณเหน็บแนมไปถึงค่ายสื่อสารอีกแห่งหนึ่ง (หลายคนคาดเดากันได้ไม่ยาก) หรือไม่..!?

เพราะอย่าลืมด้วยว่าการเข้าแข่งขันชิงประมูลคลื่น 900 MHz ของค่ายสื่อสารดังกล่าว เป็นต้นตอทำให้ TRUE ต้องเจ็บช้ำกับการแบกรับต้นทุนค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จนต้องเรียกร้องให้ คสช.ออก ม.44 หรือมาตรการช่วยเหลือแบ่งจ่ายค่าใบอนุญาตดังกล่าว

การเดินเกมถอยของ TRUE ครั้งนี้ จึงเป็นการ “ถอยด้วยความจำเป็น” ไม่ใช่เป็นการ “ถอยในเชิงกลยุทธ์” จากความจำเป็นเรื่องการจัดหา “แบงก์การันตี” ที่ TRUE รู้ดีว่าการที่ คสช.เพิกเฉยต่อข้อเสนอ “ขอแบ่งชำระค่าไลเซนส์คลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย 60,000 ล้านบาท” ทำให้เพดานหนี้ TRUE สูงเกินไป จนปิดกั้นโอกาสจัดหา “แบงก์การันตี” เพื่อร่วมประมูลนั่นเอง..!?

อย่างไรก็ดีการประกาศถอยของ TRUE ในครั้งนี้ มองอีกมุมหนึ่งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นกำไรมากขึ้น จากอดีตที่ TRUE มุ่งเน้นในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเพื่อก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 มากเกินไป จนเป็นแรงกดดันต่อกำไรของ TRUE และงบการเงินไตรมาส 1/2561 ที่ออกมาสะท้อนให้เห็นแล้วใช่หรือไม่..

…อิ อิ อิ….

Back to top button