ทริสคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ PTTEP ที่ “AAA” แนวโน้ม”Stable”
ทริสคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ PTTEP ที่ "AAA" แนวโน้ม"Stable"
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่ระดับ “AAA” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “AA” ด้วย ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ขั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนนัดการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าวได้
อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีมากพอ การสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ราคาปิโตรเลียมที่ลดลงและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท
ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ถือหุ้นใน ปตท.สผ. ในสัดส่วน 65.3% ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย การเป็นตัวแทนของ ปตท. และรัฐบาลในการทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทำให้ ปตท.สผ. ได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 43 โครงการใน 11 ประเทศ ซึ่ง 22 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และโครงการส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดที่ระดับ 777 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งรวมแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศด้วย ปริมาณดังกล่าวลดลง 8.2% เมื่อเทียบกับปี 2556 ในปี 2557 บริษัทมีอัตราการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 9.1% เป็น 359,259 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเนื่องมาจากผลของการซื้อกิจการของ Hess (Thailand) การเริ่มผลิตของโครงการ Zawtika และการผลิตน้ำมันดิบเต็มปี ของโครงการ Montara หากพิจารณาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปี 2557 แล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทน่าจะผลิตได้นานประมาณ 6 ปี
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทตัดสินใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas — LNG) ในประเทศโมซัมบิค และโครงการทรายน้ำมัน (Oil Sand) ในประเทศแคนาดาก็คาดว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วจะมีอายุเพิ่มขึ้น 1 ถึง 2 ปีเมื่อพิจารณาจากอัตราการผลิตรวมของบริษัทในปี 2557 เป็นเกณฑ์ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นจาก 4.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2556 เป็น 5.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2557 ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังสำหรับการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (Finding and Development — F&D) ของบริษัทในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 51.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จาก 33.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2556 ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยของ F&D เพิ่มขึ้นจากการซื้อกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มโครงการที่มีทรัพยากร (Contingent Resources) เข้ามามากกว่าที่จะเป็นโครงการที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์ได้
ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี 2557 ยังไม่ส่งผลกระทบทันทีต่อฐานะการเงินของบริษัท โดยราคาขายเฉลี่ยของบริษัทในปี 2557 ลดลง 3.4% จาก 65.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2556 เป็น 63.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2557 ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบลดลง 8.5% ในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนการขายก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 67% ของยอดขายรวมของบริษัทและเพียง 30%-50% ของราคาขายก๊าซธรรมชาติจะปรับตามราคาน้ำมันเตาซึ่งปรับช้ากว่าราคาเฉลี่ยจริง 3 เดือนถึง 1 ปี
ในปี 2557 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 4.5% เป็น 7,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 10% จาก 292,629 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2556 เป็น 321,886 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2557 ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลง 3.4% นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก 5,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 เป็น 5,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทจัดว่ามีความแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนที่ระดับ 29.2% ณ สิ้นปี 2557 และมีเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วจำนวน 4,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2557
แผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับโครงการปัจจุบันของบริษัทระหว่างปี 2558-2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 15,864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ 60% ของค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนทั้งหมดจะเป็นการลงทุนในประเทศไทย ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 23% และภูมิภาคอื่น ๆ อีก 17% บริษัทมีมาตรการรับมือกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำด้วยการปรับลดค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนลง 13.8% สำหรับปี 2558 จาก 3,562 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเหลือ 3,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทยังมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะชะลอแผนการลงทุนเพิ่มเติมอีกถ้าจำเป็น นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแรง โดย ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 3,936 ล้านดอลลาร์สหรัฐและมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งวงเงินจำนวน 608 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นวงเงินกู้ยืมประเภท Committed Credit Line
ในช่วงปี 2558-2560 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 3,500-3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีโดยอยู่บนสมมุติฐานที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 340,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2558-2560 ที่ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ในช่วงปี 2558-2560 ประมาณ 1,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2558 มีภาระคืนจำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 ไม่มีภาระการชำระคืนเงินกู้ ส่วนในปี 2560 มีเงินกู้ครบกำหนดชำระจำนวน 914 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากประมาณการระดับ EBITDA ตลอดจนแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและภาระการชำระคืนเงินกู้เป็นไปตามการคาดหมายดังกล่าวแล้วคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินกู้รวมที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30% ในช่วงปี 2558-2560
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และมีความยืดหยุ่นในการชะลอแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนรวมถึงมีสภาพคล่องที่เพียงพอจะช่วยให้บริษัทผ่านช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้
ปัจจัยเชิงลบที่มีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือบริษัทมีระดับเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการซื้อกิจการขนาดใหญ่