ลุ้น PTTEP ผ่านคุณสมบัติ PQ ประมูล“บงกช-เอราวัณ” ประกาศผล 28 พ.ค.นี้
ลุ้น PTTEP ผ่านคุณสมบัติ PQ ประมูล“บงกช-เอราวัณ” ประกาศผล 28 พ.ค.นี้ โดยราคาหุ้นปิดที่ระดับ 140.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.36% ราคาต่ำสุด 138.00 บาท ราคาสูงสุด 142.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.73 พันลบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปิดตลาดวันนี้(25พ.ค.) โดยราคาหุ้นปิดที่ระดับ 140.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 0.36% ราคาต่ำสุด 138.00 บาท ราคาสูงสุด 142.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.73 พันลบ.
บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า PTTEP เป็น 1 ใน 5 (PTTEP / โททาล / เชฟรอน / มิตซุย และมูบาดาลา) เข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช – เอราวัณ ซึ่งมีการประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ PQ ในวันที่ 28/5/61 ทราบผลประมูลในเดือนธ.ค.’61 และลงนามสัญญาก.พ.’62 ซึ่งคาด PTTEP มีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการเดิม มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอยู่แล้ว ประกอบกับเงื่อนไขการประมูลยังให้น้ำหนักกับความมั่นคงต่อเนื่องในการผลิต
ขณะที่คาดผลการดำเนินงานของ PTTEP ในปี’ 61 จะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง คาดปริมาณผลิตเฉลี่ยที่ 300 kboed ใกล้เคียงกับปี’60 พร้อมคาดราคาก๊าซจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นมาอยู่ที่ 72 USD/bbl สูงสุดนับแต่ พ.ย.’57 พร้อมคาดกลุ่มโอเปกยังคงให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตต่อไปในปี’61
แม้ราคาปัจจุบันสูงกว่าราคาเป้าหมายที่ 139.00 บาท แต่ภายใต้ปัจจัยหนุนการเข้าร่วมประมูลสัมปทานข้างต้น และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี แนะเก็งกำไรในระยะสั้น
ด้านนางสาวกาญจนันท์ ปาณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดทุนและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดปริมาณการขายปิโตรเลียมปีนี้จะทำได้ 3 แสนบาเรล/วัน ในขณะที่ไตรมาส 2/61 คาดทำได้ 2.97 แสนบาเรล/วัน หลังกำลังการผลิตในมอนทาร่าและซอติก้ากลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติจากที่ปิดปรับปรุงไปก่อนหน้านี้
ส่วนอัตรากำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และ ดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA margin) ไตรมาส 2/61 และทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 70-75% หลังจากเข้าซื้อหุ้นในแหล่งบงกชจากกลุ่มเชลล์เพิ่มเข้ามา 22% ส่งผลให้ปัจจุบัน PTTEP ถือหุ้นเพิ่มเป็น 66% ส่งผลให้มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นมาอีก 1.7 หมื่นบาเรล/วันในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้ารักษาระดับต้นทุนผลิตต่อหน่วย (unit cost) ปีนี้ไว้ที่ 30-31 เหรียญ/บาเรล ส่วนไตรมาส 2/61 คาดอยู่ที่ 31 เหรียญ/บาเรล โดยบริษัทฯได้ปรับวิธีการทำงานเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลงเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน และ เน้นขยายการลงทุน ตลอดจนเติบโตในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญและพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง
ขณะที่บริษัทยังมองหาการลงทุนและพัฒนาแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม โดยล่าสุดที่บราซิลและเม็กซิโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ในขณะเดียวกันก็เริ่มเพิ่มงบประมาณการสำรวจปิโตรเลียมมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ
นางสาวกาญจนันท์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดบริษัทมีกระแสเงินสดในมือ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในไตรมาส 2/61 บริษัทมีแผนจะชำระคืนหนี้ธนาคาร 575 ล้านเหรียญสหรัฐ และการจ่ายเงินเพื่อขยายสัดส่วนการถือหุ้นแหล่งบงกชในอ่าวไทย 750 ล้านเหรียญสหรัฐ และการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีก 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้กระแสเงินสดในมือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดในมือเพียงพอต่อการหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ และ การเข้าประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณรอบใหม่