สหรัฐ-เกาหลีเหนือกลับสู่ ‘โหมดวิกฤติ’

การยกเลิกการประชุมสุดยอดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิม จอง-อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีความเสี่ยงที่รัฐบาลวอชิงตันและเปียงยาง จะกลับเข้าสู่โหมดวิกฤติ แต่ทั้งสองฝ่ายอาจจะระวังที่จะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นกลัวว่าจะเกิดสงครามเหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา


รายงานพิเศษ

การยกเลิกการประชุมสุดยอดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับคิม จอง-อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีความเสี่ยงที่รัฐบาลวอชิงตันและเปียงยาง จะกลับเข้าสู่โหมดวิกฤติ แต่ทั้งสองฝ่ายอาจจะระวังที่จะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นกลัวว่าจะเกิดสงครามเหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา

หลังจากที่มีการใช้คารมตอบโต้กันใหม่จนทำให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือออกมาจากโต๊ะเจรจา มีความกังวลมากขึ้นว่าอาจมีการกระทำตามที่พูด เช่น รัฐบาลเปียงยางจะทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้อีกครั้งหรือโจมตีผ่านไซเบอร์มากขึ้น และรัฐบาลวอชิงตันจะมีมาตรการลงโทษออกมามากขึ้นหรือติดตั้งยุทโธปกรณ์ใหม่

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทรัมป์กล่าวว่าเขายังคงเปิดประตูทางการทูตและเกาหลีเหนือยังคงมองหาผลประโยชน์ใหม่อย่างชัดเจนจากความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเกาหลีใต้ อาจจะสามารถยับยั้งการดำเนินการเช่นนั้นได้ หรืออย่างน้อย ความปรารถนาร่วมกันที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ก็อาจช่วยบรรเทาเบาบางลงได้

ถึงกระนั้นก็ตาม  ในการแถลงยกเลิกการประชุมวันที่ 12 มิถุนายนที่สิงคโปร์ ทรัมป์ได้แสดงท่าทีที่ไม่ยอมลดราวาศอก โดยเตือนคิมว่าสหรัฐฯ มีความยิ่งใหญ่ด้านนิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งเป็นคำเตือนเหมือนเมื่อตอนที่เขาได้ทวิตในปีที่ผ่านมาว่า เขามีปุ่มนิวเคลียร์ที่ใหญ่กว่าคิมมาก

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เกาหลีเหนือได้เตือนว่าพร้อมที่จะประลองนิวเคลียร์กับวอชิงตัน ซึ่งเป็นคำขู่ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นสาเหตุให้ทรัมป์ตัดสินใจยกเลิกการประชุมสุดยอด

เน็ด ไพรซ์ อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่เคยเป็นหัวหน้าโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยโอบามา กล่าวว่า การตัดสินใจยกเลิกการประชุมและท่าทีที่ได้แสดงมีแนวโน้มที่จะทำให้สหรัฐฯ กลับไปสู่ความขัดแย้ง

นักวิเคราะห์คนอื่น ๆ มีความเห็นที่ระวังมากกว่านี้

บรูซ คลิงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียของเฮอริเทจ ฟาวเดชั่น กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะลั่นกลองรบ  แม้ว่าอาจจะไปถึงจุดนั้น แต่คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะด่วนสรุปเช่นนั้นในขณะนี้

การเคลื่อนไหวอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดสงครามในปีที่ผ่านมาเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข่มขู่และดูหมิ่นซึ่งกันและกันระหว่างทรัมป์และคิมเกี่ยวกับการทดสอบเอช-บอมบ์ของเกาหลีเหนือและขีดความสามารถของขีปนาวุธในการโจมตีสหรัฐฯ แต่ความตึงเครียดได้ลดลงเมื่อไม่นานมานี้เพียงเพื่อที่จะจุดชนวนขึ้นใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สถานการณ์จะขึ้นอยู่กับว่าเกาหลีเหนือจะทำอะไรต่อไป โดยส่วนใหญ่ยังคงสงสัยมากกว่าที่จะคิดว่าคิมเต็มใจที่จะยกเลิกคลังอาวุธนิวเคลียร์และเชื่อว่าทรัมป์คงไม่ไร้เดียงสาพอที่จะเชื่อว่าคิมจะทำเช่นนั้น

ในการตอบโต้เป็นครั้งแรกของรัฐบาลเปียงยางต่อการยกเลิกการประชุมของทรัมป์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ กล่าวว่า เกาหลีเหนือยังคงเปิดกว้างต่อการแก้ปัญหากับสหรัฐฯ ทุกเมื่อและทุกวิธีทาง แต่ไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลเปียงยางเต็มใจที่จะเลิกต่อรองโครงการนิวเคลียร์

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า หากคิมตัดสินใจตอบโต้อย่างรุนแรงมากขึ้นต่อการเคลื่อนไหวของทรัมป์ เขาอาจทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้หรือกลางซึ่งเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือได้ละเว้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการทางการทูต

เกาหลีเหนืออาจตัดสินใจทำในสิ่งที่เสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน นั่นคือการเริ่มทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปซึ่งได้พักไว้ในเดือนที่ผ่านมา ขีปนาวุธนี้เกาหลีเหนือคุยว่าสามารถโจมตีสหรัฐฯ ได้

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ คือสิ่งที่ทำให้ทรัมป์และคิมปะทะกันและทำให้ทรัมป์ไปอยู่ในจุดที่จะขอให้กระทรวงกลาโหมเสนอทางเลือกเพื่อโจมตีต่อสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์ หรือ ขีปนาวุธ

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ข้อบ่งชี้ในเบื้องต้นว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง จะอยู่ที่แถลงการณ์ของเกาหลีเหนือที่ระบุว่าจะไม่พักการทดสอบนิวเคลียร์อีกต่อไป

มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่าเกาหลีเหนืออาจโจมตีทางไซเบอร์

พริสซิลลา โมริอูชิ อดีตหัวหน้าสำนักงานการคุกคามทางไซเบอร์ในแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ คาดการณ์ว่า จะมีการตอบโต้ทางไซเบอร์บางประเภท โดยน่าจะเป็นการโจมตีเพื่อปฏิเสธบริการ หรือสร้างความวุ่นวายอื่น ๆ ต่อกระทรวงหรือเครือข่ายทางทหารของรัฐบาลสหรัฐฯ บริษัทรับเหมากองทัพ และบริษัทข้ามชาติอเมริกันรายใหญ่ ๆ

อย่างไรก็ดี เจฟฟ์ บาเดอร์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเอเชียของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา กล่าวว่า คิมน่าจะหลีกเลี่ยง “การยั่วยุเกินเหตุ” เพราะเขาหวังว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยให้เขายับยั้งชั่งใจไประยะหนึ่ง แต่ในระยะยาวเขาต้องกลับมายั่วยุอย่างแน่นอน

คณะบริหารของทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่ากำลังพิจารณาลงโทษเพิ่มต่อเกาหลีเหนือภายใต้การรณรงค์เพื่อกดดันสูงสุด ซึ่งอาจหมายถึงว่าจะต้องเพิ่มความพยายามที่จะสกัดเรือที่สงสัยว่าฝ่าฝืนมาตรการลงโทษของนานาประเทศ

จีน ซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ของเกาหลีเหนือ มีแนวโน้มที่จะทำเรื่องนี้มีความซับซ้อนหากผ่อนปรนต่อการบังคับใช้มาตรการลงโทษที่รัฐบาลวอชิงตันมองว่าช่วยดึงให้เกาหลีเหนือเข้าสู่การเจรจา

ส่วนความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นก็เช่น สหรัฐฯ เพิ่มยุทโธปกรณ์ทางทะเลและทางอากาศในและรอบ ๆ เกาหลีใต้ และยังคงท้าทายการเรียกร้องของเกาหลีเหนือที่จะให้ยุติการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี อีแวนส์ รีเวียร์ อดีตผู้เจรจากับเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ  กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะเคลื่อนไหวทางทหารครั้งใหญ่นอกเสียจากว่าเกาหลีเหนือยั่วยุหรือกระทำการที่ต้องทำให้สหรัฐฯ ต้องกำราบอีกครั้ง

Back to top button