พาราสาวะถี
เปิดตัวเป็นทางการไปแล้วกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือรปช. ภายใต้การนำของหัวหน้าม็อบผู้ยิ่งใหญ่ สุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วยสมาชิกระดับนำที่คุ้นหน้าคุ้นตาไม่ว่าจะเป็น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สุริยะใส กตะศิลา ตลอดพี่น้องร่วมตระกูลเทือกสุบรรณอย่าง เชนและธานี ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย ฟังเทพเทือกก็เหมือนฟังการปราศรัยของม็อบกปปส.เมื่อ 4 ปีก่อน
อรชุน
เปิดตัวเป็นทางการไปแล้วกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือรปช. ภายใต้การนำของหัวหน้าม็อบผู้ยิ่งใหญ่ สุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมด้วยสมาชิกระดับนำที่คุ้นหน้าคุ้นตาไม่ว่าจะเป็น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สุริยะใส กตะศิลา ตลอดพี่น้องร่วมตระกูลเทือกสุบรรณอย่าง เชนและธานี ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย ฟังเทพเทือกก็เหมือนฟังการปราศรัยของม็อบกปปส.เมื่อ 4 ปีก่อน
แม้จะมีการอ้างว่ากปปส.นั้นจบไปแล้ว แต่ภาพที่เทพเทือกหลั่งน้ำตาเปิดตัวพรรคนั้น คงเรียกเสียงสะอื้นจากกองเชียร์ได้ แต่คนที่ดูการเมืองเป็นอ่านเกมการเมืองออก ไม่ต่างอะไรจากการดูละครน้ำเน่าหลังข่าวที่คุ้นชิน บางเสียงค่อนขอดไปถึงว่า นี่น้ำตาจระเข้หรือเปล่า พร้อม ๆ กับการประกาศใช้รองเท้าคู่เดิมที่เคยเดินขบวน เดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนมาร่วมเป็นสมาชิกพรรค พร้อมวาทกรรมไม่ใช่พรรคที่เกิดขึ้นเพราะกำนันสุเทพ แต่กำนันสุเทพจะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคที่รักชาติ รักแผ่นดินไทย
แค่อ้าปากก็เห็นไปถึงไหนต่อไหนแล้ว เช่นเดียวกับการประกาศไม่ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ 2560 และไม่นิรโทษกรรมให้ใครทั้งสิ้น เป็นการยืนอยู่คนละขั้วกับพรรคอนาคตใหม่ชัดเจน เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า เป็นการเมืองใหม่ เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์หรือการเมืองเชลียร์และเป็นพรรคที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ไม่แตกต่างจากสิ่งที่เอนกชี้แจงถึงการเกิดขึ้นของพรรค
ที่ผ่านมาเรามีพรรคการเมืองหลายแบบ คือ พรรคของทหาร พรรคของคนที่ทำธุรกิจการเมืองหรือพรรคทุนสามานย์ และ พรรคของคนที่อยากทำงานการเมือง ซึ่งพรรค 2 แบบแรกเป็นพรรคที่สั่งการมาจากข้างบน มีนายทุน มีคนสั่งการ ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นอีกแล้ว เราอยากจะเห็นพรรคที่ทุกคนมีส่วนก่อตั้ง มีโอกาส ขายฝันกันชนิดทำเอากองเชียร์เคลิ้ม แต่คนทั่วไปโดยเฉพาะคอการเมือง แค่มองตาก็รู้ว่าพรรคนี้จะเดินกันอย่างไร
ไม่ต้องพูดถึงว่าฐานเสียงเดียวกับประชาธิปัตย์หรือไม่ มองกันไปไกลกว่านั้นดีกว่าว่า หลังเลือกตั้งแล้ว จะจับมือกับพรรคเก่าแก่ยกมือหนุนหัวหน้าคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องถามกันต่อไปว่า แล้วมันพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ยิ่งใช้เสียงของส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงเป็นตัวนำ นี่หรือคือพรรคการเมืองที่อ้างว่าทุกคนมีส่วนก่อตั้งและมีโอกาส
เป็นโอกาสของแกนนำที่จะได้เข้าร่วมมีอำนาจในบริหารประเทศมากกว่า ส่วนการตีกันแก้รัฐธรรมนูญโดยการอ้างเสียงประชาชนผ่านประชามติ 16 ล้าน 8 แสนคนนั้น ก็ถือเป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นเก่า พวกไดโนเสาร์มักจะใช้มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่ตัวเองสนับสนุน ไม่ต่างจากกับอำนาจเผด็จการแม้แต่น้อย
ทั้งที่ความจริง ถามว่ากลไกและการทำประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น เป็นไปตามครรลองของกระบวนการประชาธิปไตยหรือไม่ คงไม่ต้องสาธยาย ขณะเดียวกัน ถ้าจะอ้างเรื่องเสียงหนุนกว่า 16 ล้านเสียง ก็อย่าลืมว่าเสียงประชาชนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีมากถึง 10 ล้านเสียง ในภาวะที่ถูกสกัดกั้นในการรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญทุกท่วงท่า
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนซึ่งกวักมือเรียกคณะเผด็จการและสนับสนุนเผด็จการอย่างออกนอกหน้า จะแสดงท่าทีปกป้องรัฐธรรมนูญเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ขณะที่มุมของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญจนถูกขู่สารพัดนั้น ยังมีเสียงจากผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอธิบายถึงเหตุผลในการชงแก้ไขกฎหมายสูงสุดอย่างน่ารับฟัง
โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ชี้ว่า รัฐธรรมนูญนี้ เริ่มต้นกระบวนการก็ถือว่าผิดแล้ว กระบวนการการร่างก็ไม่เป็นประชาธิปไตย การทำประชามติก็ถือว่ามีข้อกังขามาก แม้กระทั่งนักข่าวที่ติดตามการรณรงค์โหวตโนก็ติดร่างแห่ถูกดำเนินคดีไปด้วย ดังนั้น สิ่งที่พรรคพยายามทำก็คือ การสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อที่จะสร้างกรอบกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยต่อไป
การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสวัสดิการและปากท้องของคน เนื่องด้วยฐานความคิดของรัฐธรรมนูญนี้วางอยู่บนฐานการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ไม่ได้มองว่าสวัสดิการหรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิของทุกคน ตัวอย่าง มาตรา 47 เรื่องบริการสาธารณสุขของรัฐ ที่ระบุว่ารัฐพึงจัดให้แก่ “ผู้ยากไร้” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ฐานความคิดนี้เป็นอันตรายอย่างมากต่อสิทธิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งมีเป้าหมายให้การรักษาพยาบาลที่ดีเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์สิทธิแสดงความยากจน แม้จะมีข้อถกเถียงว่าในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็มีถ้อยคำในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ความพิเศษของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการมีคณะกรรมการปฏิรูปและมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ
อันเป็นมรดกสำคัญของรัฐบาลคสช.ในการทำให้การตีความรัฐธรรมนูญมีความเคร่งครัด ตามเป้าประสงค์ของผู้ร่างในปัจจุบันอันสามารถตีความได้ว่า หากมีการพยายามปรับเปลี่ยนให้เกิดสิทธิถ้วนหน้าที่พัฒนามากขึ้น ก็อาจถูกเหมารวมว่า มีแนวนโยบายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดก็ตาม
รัฐธรรมนูญนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในการทำลายสิทธิสวัสดิการของประชาชน ถ้าสวัสดิการถูกเปลี่ยนจากสิทธิให้เป็นการสงเคราะห์ผู้ยากไร้เมื่อไร ประชาธิปไตยจะไม่มีวันเติบโต นี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่พวกปากบอกเป็นประชาธิปไตย คอยปกป้องรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพราะหากปล่อยให้แก้ไขสิ่งที่ซุกซ่อนไว้จะถูกกระชากหน้ากากทำให้เห็นไส้ในเผด็จการอย่างล่อนจ้อน จึงต้องแท็กทีมกันมารุมกระทืบกลุ่มคนที่ประกาศฉีกทิ้งด้วยท่วงทำนองสารพัด