Sector Update: ธนาคาร – บล.ทรีนีตี้
หมวด ธนาคาร ธปท.ถกเลื่อน IFRS9 มองเป็นบวกต่อกลุ่มลีสซิ่ …
หมวด ธนาคาร
ธปท.ถกเลื่อน IFRS9 มองเป็นบวกต่อกลุ่มลีสซิ่ง
สมาคมธนาคารไทยได้เข้าให้ข้อมูลกับธปท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเลื่อนบังคับใช้ IFRS9 เนื่องจากมีผลกระทบต่อลูกค้า SME โดยต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ในวันที่ 20 มิ.ย. นี้ โดยเรามองว่าหากเลื่อนจริงจะส่งผลต่อกลุ่มธนาคารไม่มาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมพร้อมมาระดับหนึ่งแล้ว แต่จะส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารมากกว่า
ธปท.ถกเลื่อน IFRS9 เป็นห่วงลูกค้า SME ได้ผลกระทบ
สมาคมธนาคารไทยได้เข้าให้ข้อมูลกับธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ถึงความจำเป็นในการเลื่อน และผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ต่อการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ก็ตาม ทั้งนี้ยอมรับว่ามาตรฐาน IFRS9 ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้ที่เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปหรือไม่ หรือเลื่อนออกไปนานเท่าใด แม้ว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะเสนอให้เลื่อนออกไปเป็นปี 2565 โดยต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ในวันที่ 20 มิ.ย. นี้
ขณะเดียวกันทาง กกร. ได้ตกลงที่จะศึกษาผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 เพื่อให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจน ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 61 ได้มีมติมอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจผลกระทบ เช่น สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเท่าใด
ก่อนหน้านี้นี้นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเมินเบื้องต้นจากการใช้ IFRS9 มีผลให้สำรองหนี้ของธนาคารเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองไว้เกินอยู่แล้ว (ที่มา: โพสต์ทูเดย์ 7 มิ.ย. 61)
มองผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารน้อย แต่เป็นบวกต่อกลุ่มลีสซิ่งมากกว่า
สำหรับประเด็นการเลื่อนใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 นั้น ยังต้องรอดูผลการประชุมจาก กกบ. (ที่กำกับดูแลสภาวิชาชีพบัญชี) ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่จะเลื่อนสูง เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงอยู่มาก และส่งผลกระทบต่อภาคการเงินและภาคธุรกิจจริงของประเทศ ทั้งนี้ในก่อนหน้าก็เคยมีการเลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีที่มีผลกระทบมาก อาทิ IAS39 มาแล้ว
ในกรณีที่มีการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 จริง เรามองว่าส่งผลกระทบต่อธนาคารน้อยมาก เนื่องจากธนาคารต่างๆ ได้มีการเตรียมพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว และจากการคำนวณของเรา สำรองส่วนเกินของธนาคารเพียงพอรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ในส่วนของสำรองหนี้แล้ว ซึ่งอาจมีเพียงส่วนอื่น อาทิ การคำนวณรายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ซึ่งมีผลกระทบไม่มาก
ในทางกลับกันเรามองว่าการเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 จะส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งในกลุ่มที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน อาทิ KTC, AEONTS ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน อาทิ SAWAD, MTC และสินเชื่อเช่าซื้อ อาทิ ASK, THANI, TK และ S11 เป็นต้น