ปัจจัยภายนอก-ภายในล้วนชวนสยอง

การประชุม G7 ออกผลมาแล้ว ผิดคาดพอสมควร ทำให้สัปดาห์นี้ยังเหลือที่ต้องลุ้นทั้งสัปดาห์คือ การประชุมเฟด, การประชุม ECB, การประชุม BOJ, การประชุมพบปะระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-ผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งทุกการประชุมมีผลทางบวกและลบที่ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องระวังระวังไว้มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

การประชุม G7 ออกผลมาแล้ว ผิดคาดพอสมควร ทำให้สัปดาห์นี้ยังเหลือที่ต้องลุ้นทั้งสัปดาห์คือ การประชุมเฟด, การประชุม ECB, การประชุม BOJ, การประชุมพบปะระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-ผู้นำเกาหลีเหนือซึ่งทุกการประชุมมีผลทางบวกและลบที่ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องระวังระวังไว้มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

คำถามคือ ปัจจัยภายนอกจากการประชุมกับปัจจัยภายในของตลาดหุ้นหรือหุ้นรายตัว อย่างไหนสำคัญกว่ากัน

คำตอบเบื้องต้นคือ ขึ้นกับมุมมองระยะสั้นหรือระยะยาว

การประชุมชาติร่ำรวยสุดของโลกหรือ G7 ปีนี้ที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา มีเรื่องให้ติดตามก่อนการประชุมพอสมควร เพราะจัดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดาและสหภาพยุโรปในประเด็นการค้า รวมถึงความไม่ลงรอยในจุดยืนการแก้ปัญหาโลกร้อนและปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน

เดิมที มีมุมมองเชิงลบว่า คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานจะไม่ยอมรอมชอมกับผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และแคนาดา เพื่อแก้ปัญหาพิพาทระหว่างกัน

บรรยากาศก่อนการประชุม ถือว่าน่าสนใจกว่าที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ถูกปรามาสอยู่เสมอว่าเป็นเวทีประชุมที่สร้างฉันทามติแบบหลวม ๆ ต่อประเด็นระหว่างประเทศที่กำลังเป็นกระแสหรืออยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความมั่นคง สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ เนื่องจากแถลงการณ์ร่วมไม่มีพันธกรณีต่อประเทศใด ๆ อย่างชัดเจน อีกทั้งไม่ก่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจนหลายฝ่ายมองว่าเป็นการประชุมที่น่าเบื่อ

ปีนี้ การประชุมชาติ G7 จัดขึ้นภายใต้ธีม “การลงทุนเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ดีสำหรับทุกคน” “เตรียมตัวสำหรับตำแหน่งงานในอนาคต” และ “การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ” แต่หัวข้อเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นรอง เพราะผู้นำฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศเจ้าภาพอย่างแคนาดา เตรียมใช้เวทีนี้งัดข้อกับสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี การแก้ปัญหาโลกร้อน และข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

ท่าทีดังกล่าว ถือเป็นปฏิบัติการ “ลองของ” เพราะนับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ข้อตกลงปารีส” และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นอกจากนี้ทรัมป์ยังต้องการฉีกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เพื่อบีบแคนาดาและเม็กซิโกให้เจรจาเงื่อนไขกับสหรัฐฯ ใหม่อีกด้วย

หลายเดือนก่อน กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศบังคับใช้มาตรการเก็บอากรขาเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมที่อัตรา 10% กับสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเหล่านี้ เพราะ EU แคนาดา และเม็กซิโก มียอดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ รวมสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ มูลค่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2017

แคนาดาประกาศว่าจะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษีเช่นกัน โดยจะเริ่มเก็บอากรขาเข้ากับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ครอบคลุมสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคตั้งแต่เมล็ดกาแฟคั่ว วิสกี้ ไปจนถึงโยเกิร์ต

ขณะที่ EU เตรียมตอบโต้ด้วยบัญชีขึ้นภาษีสินค้ายาวเป็นหางว่าวจำนวน 10 หน้ากระดาษ ตั้งแต่ถั่วไปจนถึงยานัตถุ์

บรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าช่วงท้ายซัมมิต G7 ครั้งนี้อาจไม่มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมต่อจุดยืนในนโยบายต่าง ๆ เนื่องจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของชาติสมาชิก ทำให้ไม่สามารถรอมชอมกันได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงสหรัฐฯ ก็ยอมถอยอย่างไม่เต็มใจ ทำให้สามารถออกแถลงการณ์ร่วมอันสวยงามไปได้ โดยมีพฤติกรรมห่ามตามสันดานอีกครั้งของทรัมป์มาเป็นสีสันเท่านั้น

ผ่านไปเปลาะแรก แต่ความกังวลตลอดสัปดาห์นี้ยังไม่จบง่าย การประชุมเฟด, การประชุม ECB, และการประชุม BOJ บ่งบอกชัดเจนว่ามุมมองต่อเงินเฟ้อของนายธนาคารกลางชาติสำคัญในโลกนี้ จะส่งผลต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นอีกระลอกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ มุมมองของนักลงทุนต่อเรื่องนี้ จะบ่งชี้ทิศทางชัดขึ้น

การขึ้นดอกเบี้ยคือการทำให้ต้นทุนการเงินของธุรกิจสูงขึ้น เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อภายในงบการเงินบริษัทต่าง ๆ โดยตรง

ส่วนการประชุมพบปะระหว่างผู้นำสหรัฐฯ-ผู้นำเกาหลีเหนือก็น่าสนใจแต่เป็นผลระยะสั้นที่กระทบต่อตลาดเก็งกำไร

สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาและตัดสินใจภายในสัปดาห์นี้ มีความหมายตรงที่ว่า หากสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับผลลัพธ์ได้ถูกต้อง (จะด้วยเพราะ เก่ง หรือ เฮง ก็ตาม) จะช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้น และมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้แม่นยำและมีกำไรจากความผันผวนได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์

โดยพื้นฐาน นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นสามัญวันนี้ย่อมคาดหวังผลประโยชน์ หรือผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุน เท่ากับราคาหุ้นที่นักลงทุนยอมจ่ายในวันนี้จึงเป็นราคาสำหรับสิ่งที่ตนคาดหวังว่าจะได้รับในอนาคต ทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคาที่เปลี่ยนแปลงทางบวกไปจากเดิม

เพียงแต่บนเส้นทางของความคาดหวังต่อผลตอบแทนในอนาคต ที่คาดว่าจะได้รับทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคา มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนจินตนาการบันไดสู่สวรรค์ เพราะต้องเผชิญความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องเผชิญจากตัวแปรลบมากมายทั้งที่ ควบคุมได้และไม่ได้ อาทิ

  ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ดีจะมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้นตามมา แถมพ่วงด้วยความกล้าที่จะลงทุนของนักลงทุนอื่น ๆ 

– ตัวแปรกลุ่มอุตสาหกรรม ที่บริษัทสังกัดอยู่เป็นช่วงขาขึ้น หรือขาลง

– ตัวแปรผลประกอบการของบริษัท ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ กลยุทธ์ของบริษัท และความสามารถของผู้บริหาร 

ปัจจัยเหล่านี้ทวีความซับซ้อนมากขึ้นตามเวลาและสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน ปัจจัยภายนอก และภายใน ล้วนไม่อาจถูกมองข้ามไป เพราะยามนี้และอนาคต มีเรื่องชวนสยองมากกว่าชวนรื่นรมย์

Back to top button