สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่สามเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนเมินความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตร ในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ชาติ หรือ G7 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศแคนาดาในวันศุกร์และวันเสาร์นี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,316.53 จุด เพิ่มขึ้น 75.12 จุด หรือ +0.30% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,779.03 จุด เพิ่มขึ้น 8.66 จุด หรือ +0.31% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,645.51 จุด เพิ่มขึ้น 10.44 จุด, +0.14%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดอ่อนแรงลงเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) จากความกังวลของนักลงทุนต่อการประชุมสุดยอด G7 ในช่วงสุปสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมีความเห็นขัดแย้งกับสหรัฐเกี่ยวกับนโยบายการค้า

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.82 จุด หรือ -0.21% ปิดที่ 385.12 จุดในวันศุกร์ และลดลง 0.5% ตลอดทั้งสัปดาห์

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,766.55 จุด ลดลง 44.50 หรือ -0.35% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,681.07 ลดลง 23.33 หรือ -0.30% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,450.22 จุด ขยับขึ้น 1.86 จุด หรือ +0.03%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย ก่อนที่การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 7 ชาติ หรือ G7 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงสุปสัปดาห์นี้ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าการพูดคุยหารือน่าจะเป็นไปอย่างดุเดือด โดยมีประเด็นนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐเป็นปมความขัดแย้ง

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,681.07 จุด ลดลง 23.33 จุด หรือ -0.30% ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการลดลงสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากการพุ่งขึ้นของการผลิตน้ำมันในสหรัฐ สวนทางกับอุปสงค์ในจีนที่ลดลง ด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ เผยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐมีจำนวนสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี  ขณะเดียวกัน นักลงทุนรอดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าทางกลุ่มจะยังไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 65.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ราคาลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการลดลงสามสัปดาห์ติดต่อกัน

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 86 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 76.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ ราคาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวลดลงไป 0.5%

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตรช่วยพยุงราคาทองไม่ให้ร่วงลงมาก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 30 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1,302.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ราคาทองปรับตัวขึ้นราว 0.3%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 7.4 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 16.741 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ดีดขึ้น 5.4 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 905.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 2.4 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,009.60 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (8 มิ.ย.) หลังจากที่ปรับตัวลดลงมาสี่วันติดต่อกัน เช่นเดียวกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งด้านนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับชาติพันธมิตรในการประชุมผู้นำกลุ่ม G7 ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่นสกุลเงินดอลลาร์ และเยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1768 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1808 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3416 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3426 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7600 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7620 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.47 เยน จากระดับ 109.73 เยน และลดลงแตะ 1.2937 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2979 ดอลลาร์แคนาดา แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9852 ฟรังก์ จากระดับ 0.9803 ฟรังก์

Back to top button