การพบปะแห่งประวัติศาสตร์
วันนี้ น่าจะถือเป็นวันหยุดโลกอีกครั้ง สายตาของคนทั่วโลกจับจ้องไปที่สิงคโปร์ เพื่อจับตาและวิเคราะห์การพบปะครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ พร้อมกับคำถามถึงอนาคตว่าการพบปะครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
วันนี้ น่าจะถือเป็นวันหยุดโลกอีกครั้ง สายตาของคนทั่วโลกจับจ้องไปที่สิงคโปร์ เพื่อจับตาและวิเคราะห์การพบปะครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ พร้อมกับคำถามถึงอนาคตว่าการพบปะครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร
ในมุมของเกาหลีเหนือ ไม่ว่าผลการพบปะจะลงเอยแบบไหน ก็สามารถถือเป็นชัยชนะได้เสมอจากการปรับนโยบายทางการทูตจากบทบาท “ผู้ร้ายของชาวโลก” มาเป็นท่าที “แสวงหาสันติภาพกะทันหัน” ที่ย้อนแย้งกับท่าทีในอดีตอย่างกลับขั้วชนิด “เอาหัวเดินต่างตีน” ซึ่งมีเสียงขานรับเชิงบวกพอสมควร
เท่าที่ผ่านมา การที่เกาหลีเหนือเล่นบทบาทผู้ร้ายมาโดยตลอดได้ เพราะอาศัยช่องโหว่จากการที่ชาติสมาชิก UNSC โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น (รวมทั้งเกาหลีใต้ที่รับผลกระทบโดยตรงเต็มที่) ต่างพากันหวาดกลัวว่า การตอบโต้บทบาทผู้ร้ายด้วยการบังคับใช้มาตรการของ UNSC อาจนำไปสู่ “สถานการณ์ที่เกินเลย” และยากจะควบคุมได้ โดยเฉพาะดุลอำนาจในคาบสมุทรเกาหลี และเอเชียตะวันออก
เกาหลีเหนือ ได้ต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ในประเด็นโครงการนิวเคลียร์มาโดยตลอด และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ได้ประกาศว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ที่สามารถยิงได้ไกลถึงทุกพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ซึ่งทำให้ถูกนานาชาติประณาม
ก่อนหน้าการพบปะคราวนี้ มีเค้าว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะเกาหลีเหนือสั่งล้มการประชุมเกาหลีสองประเทศมากะทันหันเมื่อเดือนที่แล้ว แม้ว่าจะประกาศข่าวช็อกโลกในทางบวกในที่ประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ (WPK) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า จะระงับการทดสอบนิวเคลียร์ และขีปนาวุธ ICBM ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายนเป็นต้นไป ส่วนฐานทดสอบนิวเคลียร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศก็จะถูกปิดการดำเนินการด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสว่า เกาหลีเหนือจะไม่เดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์
แม้เหตุผลในการยกเลิกที่ดูแปลกพิกล (ไม่ได้บอกว่ายกเลิกชั่วคราวหรือถาวร) เพราะอ้างว่า เกาหลีเหนือได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แล้ว (หลังจากปีที่ผ่านมา ทดลองไปมากถึง 2 ครั้งไล่เลี่ยกัน) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะเดินหน้าแผนการทดสอบนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธข้ามทวีปอีกต่อไป
ท่าทีของเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแค่เกมลวงโลกเช่นที่เคยเล่นมายาวนาน แต่สามารถนำไปสู่การบรรลุสันติภาพได้จริง คำถามหลักซึ่งทุกชาติที่เกี่ยวข้องกังวลคือ ดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปเหนือเอเชียตะวันออก ซึ่งดำรงอยู่บนรากฐาน “สถานะกึ่งสงคราม” มายาวนานนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
เรื่องสำคัญเช่นนี้จะสามารถประเมินได้หลังจากการพบปะวันนี้ไป
การที่เกาหลีเหนือพลิกเล่นบทบาทอันไม่คุ้นเคย ชาติที่เกี่ยวข้องก็คงต้องเริ่มทำความคุ้นเคยกันใหม่ ซึ่งน่าจะส่งอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาบทบาทในฐานะผู้ร้ายในสายตาชาวโลกได้สร้างกรอบให้เกิดลัทธิบูชาบุคคลรอบตัวของ คิม จอง อึน ที่มีอายุเพียงแค่ 35 ปี ถึงขั้นยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติจูเช รวมทั้งเป็นผู้นำอันโดดเด่นของพรรค กองทัพ แล้วบางทีก็เลยเถิดถึงขั้นเป็นบุคคลยิ่งใหญ่จุติจากสวรรค์ อันเป็นนิยามโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเคยใช้เฉพาะกับพ่อและปู่ของเขา
เกาหลีเหนือ รู้ดีเสมอว่า ในเกมผู้ร้ายที่เล่นอยู่หลายทศวรรษ หากบังเอิญว่าจำต้องเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ตามที่คาดไว้จริง เกาหลีเหนือเองก็จะพินาศก่อนใครอื่น แต่บทที่ “จำต้องเล่น” เกิดจากเป้าหมายสำคัญที่ยังไม่บรรลุคือ 1) ต้องการ ให้โลกยอมรับฐานะชาติที่มีสิทธิในการผลิตนอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่อยู่ใต้ร่มเงาชาติมหาอำนาจอื่นอย่างชอบธรรม 2) เกาหลีเหนือต้องปลอดพ้นจากการแทรกแซงกิจการภายในโดยต่างชาติ
ในมุมของเกาหลีเหนือ การพบปะโดยตรงคือการยอมรับ “ความดำรงอยู่ภาคปฏิบัติและทฤษฎีอย่างแท้จริง หลังจากที่ถูกสหรัฐฯ นำขบวนชาติอื่น ๆ ปฏิเสธความเป็นชาติเอกราชมายาวนาน”
สำหรับมุมมองของสหรัฐฯ เอง การเล่นเกมเกาหลีเหนือ ทั้งที่ยืนกรานมาตลอดว่า จะไม่ยอมเจรจาโดยตรงกับผู้นำเกาหลีเหนือให้เสียฟอร์ม โดยไม่ผ่านคณะกรรมการ 5+1 ที่ตั้งโดย UNSC แบบเดิม จึงเป็นการแหวกทฤษฎีที่ถือเป็นก้าวใหม่
แน่นอนว่า เพียงแค่การพบปะเพียงไม่กี่ชั่วโมงแบบละครฉากใหญ่ของโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง อึน อาจจะไม่ทำให้โลกปลอดภัยจากนิวเคลียร์ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย
เว้นเสียแต่ว่า การพบปะนี้ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ละครหน้าฉากที่สวยหรูแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยให้ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรทั้งหลาย เกิดอารรมณ์ “กระทิง” ขึ้นมาได้
หลังจากวันนี้ผ่านไป หมี หรือกระทิง ใครจะชนะในการครอบงำจิตใจนักลงทุน ต้องติดตามกัน