ค่าโง่ของนวัตกรรม

ในโอกาสที่ ก.ล.ต. คาดว่าแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจะออกประกาศเป็นทางการได้ภายในเดือนนี้ หลังจากที่บอร์ดชุดใหญ่มีการประชุมวันที่ 7 มิถุนายน 2561 แล้วได้ให้ความเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอ และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล มีเรื่องราวน่าสนใจประเภท "ค่าโง่" สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปเก็งกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เป็นรูปธรรม


พลวัตปี 2018  : วิษณุ โชลิตกุล

ในโอกาสที่ ก.ล.ต. คาดว่าแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจะออกประกาศเป็นทางการได้ภายในเดือนนี้ หลังจากที่บอร์ดชุดใหญ่มีการประชุมวันที่ 7 มิถุนายน 2561 แล้วได้ให้ความเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอ และการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล มีเรื่องราวน่าสนใจประเภท “ค่าโง่” สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้าไปเก็งกำไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เป็นรูปธรรม

นักลงทุนคนหนึ่งที่ผมคุ้นเคย มีชื่อจริงนามจริง แต่ขอสงวนไว้ว่าชื่อ กริช เล่าบทเรียนอันเจ็บแสบจากการสูญเงินเกือบทั้งหมดในการลงทุนกับ JFIN COIN ไม่กี่วันที่ผ่านมา ดังนี้

“…ผมได้ซื้อเงินสกุลดิจิทัลของ JFIN COIN ที่ออกโดยบริษัทในเครือของ บมจ.เจมาร์ท หรือ JMART ในราคา IPO 6.60 บาทและขายทิ้งไปตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. ในราคา 4.90 บาทจำนวน 5000 เหรียญ เหลือเป็นเงินสดในบัญชี JFIN coinasset จำนวน 5,000×4.90 = 24,500 บาท

เรียกว่าผมยอมขาดทุนในการลงทุนคราวนี้โดยไม่กล่าวโทษใคร นอกจากตัวเอง

จากนั้นผมก็ปล่อยเงินไว้ในบัญชีเผื่อวันใดวันหนึ่งจะกลับมาซื้อเหรียญใหม่

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา email ผมโดนแฮ็ก และมีผู้ไม่หวังดีมาสวมบัญชีผมได้ใช้เงินในบัญชีผมซื้อขายเหรียญสกุลดิจิทัลอื่น ๆ หลายครั้ง

เรื่องมันมากกว่านั้น เพราะไอ้โม่งที่ไม่รู้เป็นใคร ได้ทำการถอนเงินออกไปผ่านเงินสกุลดิจิทัล (เข้ามาซื้อขายได้ไงผมไม่ทราบเลย)

ผมมาทราบเรื่องนี้ จากการเข้าบัญชีในวันที่ 10 มิถุนายน จากนั้นผมได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ของ JFIN COIN ทางโทรศัพท์โดยพนักงานบอกจะให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโทรศัพท์กลับมา แต่ก็เงียบหายไป 1 วัน

ผมเลยพยายามติดต่อให้ได้จนได้พบเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ JFIN coin asset ได้แจ้งให้ผมทราบถึงข้อมูลดังกล่าว และแจ้งว่าผมโชคร้ายไม่ได้ทำ 2F (2 Factor Authentication) สมาร์ทโฟนสำหรับยืนยันตัวตนไว้ ทำให้ผู้ร้ายมาแฮ็กได้ง่าย

คำถามของผมคือ ทำไม JFIN ไม่เตือนซ้ำก่อนให้ทำธุรกรรม หรือคิดว่าทุกคนต้องทำการบ้านมาดีหมดเท่ากัน

ผมได้คุยโทรศัพท์กับ ผู้บริหาร JFIN เขาเล่าให้ฟังว่าคนร้ายเป็นมืออาชีพทำธุรกรรมหลายต่อผ่านไปยังบัญชีกลุ่มตนในต่างประเทศ เอาเงินในบัญชี JFIN ของผมไปซื้อเหรียญ coin อื่น ๆ ทำธุรกรรมซื้อขายหลายครั้งในวันที่ 6 มิ.ย. ทั้ง ๆ ที่บัญชีนี้ไม่เคยเคลื่อนไหวเลย รวมถึงโอนเงินออกไปได้อย่างไรผมงงมาก ธนาคารที่ผมทำบัตรเครดิตยังมีการเตือน แต่ที่นี่ไม่มี และบอกผมว่า ทางบริษัทจะไม่ขอรับรับผิดชอบใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะบัญชีเมล์ผมถูกแฮ็กไม่ใช่บัญชีของ JFIN โดยตรง และทางบริษัทก็ได้บล็อกบัญชีของผมไว้แล้ว

ปัจจุบันเงินสดในบัญชีของผมเกือบเกลี้ยง มีเหลือเหรียญที่ผู้ร้ายซื้อทิ้งไว้ในบัญชี ข้อมูลล่าสุดจาก เจ้าหน้าที่ของ JFIN ในบัญชีผมมีเหรียญของ bitcoin อยู่จำนวน 0.0478649 เหรียญที่โจรมาซื้อขายและเหลือไว้ในบัญชี คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นบาท หากผมต้องการถอนเงินและปิดบัญชีให้ส่งภาพถ่ายผมคู่กับบัตรประจำตัวประชาชนและกระดาษเขียนข้อความขอปิดบัญชีเพื่อยืนยันตัวตนอีกที

บทเรียนนี้ ผมถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อีเมลผมอยู่ ๆ จะมีคนมาแฮ็กทำไม และทำได้อย่างไร 

ผมอยากไปแจ้งความแต่ไม่รู้จะไปแจ้งที่ไหนข้อหาอะไร จึงขอร้องเรียนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว แต่ทำใจไว้แล้วว่าเราประมาทเองไม่ตั้งรหัสสองชั้นไว้ คงได้แต่เตือนท่านที่เสี่ยงซื้อเหรียญไว้จะได้ไม่โดนอย่างผม

ช่วงนี้ผมได้แต่รับสภาพและตำหนิตัวเอง…”

ข้อความทั้งหมดนี้ ใครจะบอกว่าเป็นกรรมเวร หรือ รนหาที่ ก็ย่อมได้ เพียงแต่เป็นอุทธาหรณ์ว่า นวัตกรรมเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จำต้องมีกติกากำกับดูแล ไม่ควรปล่อยตามธรรมชาติเช่นกรณีนี้

Back to top button